ลีวียู ลีเบรสกู
ลีวียู ลีเบรสกู | |
---|---|
เกิด | 18 สิงหาคม 1930 ปลอเยชต์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย |
เสียชีวิต | เมษายน 16, 2007 แบล็กสเบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ | (76 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | บาดแผลกระสุนปืน |
พลเมือง | โรมาเนีย |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิกบูคาเรสต์ |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | วิศวกรรมศาสตร์: แอโรอีลาสติกซิตี และ แอโรไดนามิกส์ |
สถาบันที่ทำงาน | เวอร์จิเนียเทก มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ สถาบันเทคโนโลยีเทกนีออน-อิสราเอล[1][2] |
ลีวียู ลีเบรสกู (โรมาเนีย: Liviu Librescu, เสียงอ่านภาษาโรมาเนีย: [ˈlivju liˈbresku]; ฮีบรู: ליביו ליברסקו 18 สิงหาคม 1930 – 16 เมษายน 2007) เป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวอเมริกัน-โรมาเนีย ผู้รอดชีวิตจากโฮโลคอสต์ เขาชำนาญการพิเศษในสาขาแอโรอีลาสติกซีตี และ แอโรไดนามิกส์
ลีเบรสกูเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากบทบาทของเขาระหว่างการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคเมื่อปี 2007 ที่ซึ่งเขาดึงปิดประตูห้องเลกเชอร์ของเขาไว้เพื่อให้นักศึกษาในห้องหลบหนีออกทางหน้าต่างได้ทัน นักศึกษาในห้องเลกเชอร์ของลีเบรสกูหลบหนีออกมาสำเร็จยกเว้นเพียงแค่คนเดียว[3] ท้ายที่สุด ลีเบรสกูถูกยิงเสียชีวิตขณะเกิดเหตุสังหารหมู่ รัฐบาลโรมาเนียได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Star of Romania ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับพลเมือง ให้แก่เชาหลังเสียชีวิต
ตอนที่เขาเสียชีวิต ลีเบรสกูเป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรมและเครื่องกลประจำเวอร์จิเนียเทก[4]
ชีวิตช่วงต้นและอาชีพการงาน
[แก้]ลีวียู ลีเบรสกู เกิดในปี 1930 ในครอบครัวชาวยิวในเมืองปลอเยชต์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย หลังนาซีเข้ายึดครองโรมาเนียในสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของเขาถูกเนรเทศไปค่ายแรงงานในทรานส์นีสเตรีย และต่อมาถูกส่งไปยังเกตโตในเมืองฟอกชันในโรมาเนีย[5]
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด และรอดชีวิตจากฮอโลคอสต์มาได้ ลีเบรสกูเดินทางกลับสู่โรมาเนียยุคคอมมิวนิสต์[5] เขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์แอโรไดนามิกส์ จากมหาวิทยาลัยพอลีเทคนิกบูคาเรสต์ในปี 1952 และศึกษาต่อปริญญาเอก จบการศึกษาวุฒิ Ph.D. ในสาขากลศาสตร์ของไหล ในปี 1969 จากสถาบันวิทยาศาสตร์โรมาเนีย[6] เขาทำงานเป็นอาจารย์ประจำสถาบันต่าง ๆ ในบูคาเรสต์จนถึงปี 1975 ที่ซึ่งเขาปฏิเสธการสาบานตนเข้าร่วมกับรัฐบาลของผู้เผด็จการนีกอลาเอ ชาวูเชสกู[5] ต่อมาเขาได้ยื่นคำร้องอพยพไปยังอิสราเอล (สำหรับชาวยิว) สถาบันวิทยาศาสตร์โรมาเนียไล่เขาออกจากสถาบัน[5] ในปี 1976 ผลงานวิจัยที่เขาแอบลักลอบออกมาได้รับการตีพิมพ์ในเนเธอร์แลนด์ ทำให้ชื่อของเขาได้นับความสนใจในสาขาพลศาสตร์วัสดุ (material dynamics) จากนานาชาติ[7]
หลังถูกรัฐบาลปฏิสเธมาหลายเดือน ท้ายที่สุดเมนาเกม เบกิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เข้ามาแทรกแซงและอนุญาตให้ครอบครัวของลีเบรสกูสามารถอพยพมายังอิสราเอลได้ หลังเบกิน ได้ยื่นคำร้องโดยตรงแก่นีกอลาเอ ชาวูเชสกู ประธานาธิบดีโรมาเนีย เพื่ออนุมัติให้ลีเบรสกูออกจากประเทศมายังอิสราเอลได้[5] ครอบครัวของลีเบรสกูอพยพมายังอิสราเอลในปี 1978[8]
ในปี 1979 ถึง 1986 ลีเบรสกูเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกลและแอโรนอติกส์ประจำมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ และสอนที่สถาบันเทคนีออนในไฮฟา[8] ในปี 1985 เขาออกเดินทางเพื่อพักผ่อนซับบาติคัลมายังสหรัฐ และต่อมาเป็นศาสตราจารย์ประจำอยู่ที่เวอร์จิเนียเทก แผนกวิทยาศาสตร์วิศวกรรมและเครื่องกล[8][9] เขาเป็นสมาชิกบรรณาธิการบริหารของวารสารวิทยาศาสตร์เจ็ดหัว และได้รับเชิญเป็นบรรณาธิการรับเชิญให้กับฉบับพิเศษของวารสารวิชาการอื่นอีกห้าหัว[10] ไม่นานก่อนเสียชีวิต เขาเป็นประธานร่วมในคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยความเครียดความร้อนครั้งที่เจ็ด (7th International Congress on Thermal Stress) ที่ไทเป ในประเทศไต้หวัน ระหว่างวันที่ 4–7 มิถุนายน 2007 และเขายังได้รับเชิญเป็นผู้กล่าวคีย์โนตเลกเชอร์ (keynote lecture) ของการประชุมครั้งนี้ด้วย[4][10] ภรรยาของเขาระบุว่า ลีเบรสกูเป็นศาสตราจารย์ที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดในบรรดาศาสตราจารย์ที่เวอร์จิเนียเทก[8]
การเสียชีวิต
[แก้]ลีเบรสกูเสียชีวิตในการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค สิริอายุ 76 ปี[8] ถือเป็นผู้เสียชีวิตที่อายุมากที่สุดในเหตุการณ์นั้น ขณะเกิดเหตุเมื่อ 16 เมษายน 2007 ผู้ก่อเหตุ โช ซึง-ฮี เดินเข้ามายังอาคารวิศวกรรมศาสตร์นอริสฮอลล์ (Norris Hall Engineering Building) และกราดยิงตามห้องเรียนในอาคาร ลีเบรสกู ซึ่งตอนนั้นกำลังสอนวิชากลศาสตร์ของแข็งในห้อง 204 ในนอริสฮอลล์ ได้ดึงประตูปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อเหตุบุกเข้ามาได้ พร้อมทั้งตะโกนเรียกให้นักศึกษาในห้องเขาหลบหนีออกไปทางหน้าต่าง ลีเบรสกูสามารถดึงรั้งประตูสู้ไว้ได้กระทั่งนักศึกษาส่วนใหญ่ในห้องหลบหนีออกไปสำเร็จ กระทั่งผู้ก่อเหตุเตะกระจกเข้ามาได้ นักศึกษาที่หลบหนีออกทางหน้าต่างบางส่วนบาดเจ็บที่ขาเนื่องจากกระโดดลงมาจากห้องซึ่งอยู่บนชั้นสอง บางส่วนปลอดภัยดี ทั้งหมดหลบหนีออกมาโดยวิ่งไปยังรถพยาบาลที่ล้อมรอบวิทยาเขตอยู่ บ้างวิ่งหนีออกไปทางป้ายรถประจำทางใกล้ ๆ[11][12][13] ลีเบรสกูถูกยิงรวมสี่นัดผ่านทางประตู[14] หนึ่งนัดผ่านทางนาฬิกาข้อมือ นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในห้องนั้นทั้ง 23 คนรอดชีวิต ยกเว้นเพียงแค่มินัล ปัญญัล (Minal Panchal) นักศึกษาปริญญาเอกชาวอินเดียจากมุมไบ และอีกสองคนบาดเจ็บไม่ถึงชีวิตขณะหลบอยู่ในซอกหลืบของห้อง[15]
นักศึกษาจำนวนหนึ่งของลีเบรสกูยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษจากการกระทำของเขา แคโรลีน เมอรีย์ (Caroline Merrey) นักศึกษาชั้นปีสี่ ระบุว่านักศึกษาอีก 20 คนอัดกันออกมาทางหน้าต่าง ในขณะที่ลีเบรสกูตะโกนเร่งให้พวกเขารีบหนีออกไป[14] เธอระบุว่า "ฉันคิดว่าฉันไม่น่าจะ[รอดชีวิต]มายืนอยู่ตรงนี้ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะเขา[ลีเบรสกู]"[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Slavin, Barbara. "Professor who 'did not fear death' likely saved students", USA TODAY, April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ Hernandez, Raymond. "Victims of Shooting Are Remembered", New York Times April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ [1]Holocaust Survivor, Professor Killed Helping Students Escape เก็บถาวร 2007-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Fox News, April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ 4.0 4.1 Liviu Librescu's Curriculum Vitae เก็บถาวร 2007-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Friedman, Matti. "Holocaust survivor killed in Va shooting", Associated Press, April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ (ในภาษาโรมาเนีย) "Profesorul-erou, inventator şi reputat om de ştiinţă" เก็บถาวร 2007-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, in Evenimentul Zilei, April 17, 2007
- ↑ Jeffrey Brainard and Matthew Kalman. "Profiles of the Slain: Liviu Librescu", The Chronicle of Higher Education. April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Benhorin, Yitzhak. "Israeli killed in Virginia massacre". Ynetnews, April 17, 2007. Accessed February 20, 2008.
- ↑ "Virginia Tech: In Memoriam: April 16th 2007" เก็บถาวร 2007-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Virginia Tech.
- ↑ 10.0 10.1 Liviu Librescu – Faculty profile เก็บถาวร 2007-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the Virginia Tech Department of Engineering and Mechanics website เก็บถาวร 2006-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Israeli lecturer died shielding Virginia Tech students from gunman" เก็บถาวร 2009-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Haaretz, April 17, 2007. Accessed February 22, 2008.
- ↑ Donovan, Doug (April 17, 2007). "As The Gunshots Shifted Closer, Next Move Was Clear: Get Out". Baltimore Sun. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-20. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
- ↑ Maraniss, David. 'That Was the Desk I Chose to Die Under', Washington Post, April 19, 2007. Accessed February 22, 2008.
- ↑ 14.0 14.1 Moynihan, Colin. "Professor’s Violent Death Came Where He Sought Peace", New York Times, April 19, 2007. Accessed February 22, 2008.
- ↑ "The Victims", NY Times. April 18, 2007. Accessed February 22, 2008.
- ↑ Hutkin, Erinn. "Liviu Librescu: Holocaust survivor blocked shooter, letting students flee" เก็บถาวร 2013-01-04 ที่ archive.today, The Roanoke Times, April 27, 2007. Accessed February 22, 2008.