ข้ามไปเนื้อหา

ผลงานของวอลแตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผลงานของวอลแตร์สามารถจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

ผลงานเกี่ยวกับปรัชญา ศาสนาและศีลธรรม (Les œuvres philosophiques)

[แก้]

ผลงานประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • Les Lettres philosophiques (1734)
  • Discours en vers sur l’homme (1736)
  • Traité sur la tolérance (1763)
  • Dictionnaire philosophique (1764)
  • Question sur l’Encyclopédie (1770 – 1772)

Les Lettres philosophiques ou Lettres anglaises (1734)

[แก้]

จดหมายปรัชญา หรือ จดหมายจากอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษที่กรุงลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1733 และปีต่อมาจึงตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ผลงานชิ้นนี้เขียนขึ้นในรูปแบบของจดหมายรวมทั้งสิ้น 25 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเล่าถึงสภาพสังคมของประเทศอังกฤษผ่านประสบการณ์ของตัววอลแตร์ โดยเขียนด้วยโวหารที่คมคายและสอดแทรกด้วยการเสียดสีถากถาง วอลแตร์ได้ใช้สภาพสังคมดังกล่าวเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ชาวฝรั่งเศสได้รู้จักถึงศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง ปรัชญาและวัฒนธรรมของประเทศอังกฤษ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับประเทศฝรั่งเศส ทำให้เห็นว่าประเทศฝรั่งเศสนั้นยังล้าสมัยอยู่ อีกทั้งเขายังต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเสียภาษีระหว่างชนชั้นสามัญกับชนชั้นอภิสิทธิ์ ต้องการให้เกิดความสมดุลของอำนาจทางการเมือง และต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมเสรีภาพด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์อีกด้วย ส่วนตอนท้ายของผลงานชิ้นนี้ วอลแตร์ได้กล่าววิจารณ์ ปาสกาล (Pascal) นักคิดคนสำคัญในศตวรรษที่ 17 อย่างดุเดือดในแง่ความเชื่อ ความศรัทธาในพระเจ้า เนื่องจากปาสคาลเห็นว่า “ความทุกข์ของมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ปราศจากพระเจ้า และมนุษย์จะค้นพบความสุขได้เมื่อมีศรัทธาในพระเจ้า” ซึ่งแนวคิดนี้ได้ขัดแย้งกับความคิดด้านศาสนาของวอลแตร์โดยสิ้นเชิง อาจกล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้ทำให้วอลแตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

Traité sur la Tolérance (1763)

[แก้]

บทความว่าด้วยขันติธรรม วอลแตร์เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านความเชื่อที่งมงาย (la superstition) และความบ้าคลั่งทางศาสนา (le fanatisme religieux) เขาสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมแก่ครอบครัวของ ฌอง กาลาส (Jean Calas) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ผู้ซึ่งถูกลงโทษประหารชีวิตในข้อกล่าวหาว่าแขวนคอลูกชายของตนเองที่ต้องการจะเปลี่ยนไปนับถือคาทอลิก วอลแตร์เข้ามาช่วยเหลือโดยการเขียนบทความที่ลือชื่อ ต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของครอบครัวกาลาส เพราะเขาเห็นว่าคำกล่าวหานั้นเป็นเพียงข้ออ้างของสถาบันศาสนาที่จะโจมตีชาวโปรแตสแตนท์นั่นเอง และวอลแตร์ถือว่าไม่มีอะไรชั่วร้ายไปกว่าการลงโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์

Dictionnaire philosophique (1764)

[แก้]

ปทานุกรมปรัชญา ผลงานชิ้นนี้ได้รวบรวมเอาการวิพากษ์วิจารณ์ของวอลแตร์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านวรรณคดี ปรัชญา ศาสนา การเมือง และสังคม ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความคิดของเขาในเรื่องที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น ความงมงายทางศาสนา ความเชื่อในเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการตัดสินคดีความในศาล และความไม่ยุติธรรมในสังคม

ผลงานด้านประวัติศาสตร์ (Les œuvre historiques)

[แก้]

นอกจากเป็นนักเขียนและนักปรัชญาแล้ว วอลแตร์ยังเป็นนักประวัติศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเขาได้วางหลักเกณฑ์การเขียนงานทางด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ การเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่เรื่องราวของกษัตริย์และสงคราม แต่ควรที่จะสนใจทุก ๆ เรื่อง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี และความคิดอ่านของคนในชาตินั้น ๆ ด้วย แนวความคิดหลักของเขาได้แก่ การติดตามวิวัฒนาการทางปัญญา วัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษยชาติจากสมัยเริ่มแรกที่มนุษย์ยังป่าเถื่อนจนกระทั่งกลายเป็นมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรม ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ วอลแตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักเขียนของเขามากกว่าความเป็นนักประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เขาจะยึดหลักว่าจะต้องให้ผู้อ่านสนุกไปกับประวัติศาสตร์เสมือนกำลังอ่านนวนิยายหรือบทละครอยู่

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของวอลแตร์มีความทันสมัยมาก คือ เขาทำการค้นคว้าหาข้อมูลทางเอกสาร และรวบรวมหลักฐานเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงด้วยการใช้ปัญญาและเหตุผลเพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์ด้วย

ผลงานประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • Histoire de Charles XII (1731)
  • Le Siècle de Louis XIV (1751)
  • Essai sur les mœurs et l’esprit des nations (1756)

Histoire de Charles XII (1731)

[แก้]

เป็นผลงานประเภทโศกนาฏกรรมร้อยแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 แห่งประเทศสวีเดน และถือว่าเป็นผลงานเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นแรกของ วอลแตร์ โดยเนื้อเรื่องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกกล่าวถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 ด้วยการพิชิตศัตรูจนราบคาบ ส่วนในครึ่งหลังกล่าวถึงการรตกต่ำและการสูญเสียอำนาจของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 วอลแตร์ได้ใช้การบรรยายเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นโดยเฉพาะการเล่าเรื่องสงคราม นอกจากนั้น เขายังพยามยามที่จะชี้ให้บรรดากษัตริย์ร่วมสมัยของเขาเห็นถึงความผกผันของอำนาจวาสนาและผลร้ายของการคลั่งอำนาจอีกด้วย

Le Siècle de Louis XIV (1751)

[แก้]

ผลงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นวิวัฒนาการก้าวใหม่ของการเขียนงานเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงพงศาวดารที่บันทึกเหตุการต่าง ๆ โดยปราศจากการวิเคราะห์ และกล่าวถึงเฉพาะการยกย่องกษัตริย์และสงคราม ซึ่งต่างกับผลงานชิ้นนี้ของวอลแตร์ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อข้อเท็จจริง เคร่งครัดกับลำดับเหตุการณ์ มีการรวบรวมเอกสารจำนวนมากเพื่อนำมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยการวิเคราะห์วิจารณ์ และมิได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของกษัตริย์และสงครามแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาได้ให้ความสำคัญแก่นโยบายการปกครอง กฎหมาย ระบบตุลาการ การพาณิชย์ ศาสนา และศิลปะวิทยา อีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากอีกชิ้นหนึ่ง เพราะเป็นหลักฐานที่ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เป็นอย่างดี ความตั้งใจแรกของวอลแตร์คือ เขาตั้งใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทางอ้อม โดยการอาศัยการเปรียบเทียบกับรัชสมัยอันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้ว ความตั้งใจเดิมก็เปลี่ยนไป เนื้อหาโดยรวมวอลแตร์ได้วิเคราะห์ถึงราชสำนัก รัฐบาล ศิลปะ ปัญหาทางศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แนวความคิดของผลงานชิ้นนี้คือ “ราชาผู้รู้แจ้ง” เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและศิลปะวิทยาการในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่าศตวรรษของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นยุคที่มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์อย่างแท้จริง

Essai sur les mœurs et l’esprit des nations (1756)

[แก้]

ความเรียงว่าด้วยเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วอลแตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านวัตถุ วิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก เขาได้เน้นถึงความสำคัญของจารีตประเพณี ความเชื่อของคนในสังคม และชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพที่อยู่ในส่วนลึกของธรรมชาติมนุษย์ที่อยู่ในทุกแห่งหน อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังยึดมั่นที่จะประณามความบ้าคลั่งทางศาสนาเช่นเดิม แต่ก็มีสิ่งใหม่ 2 ประการในผลงานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ คือ ประการแรก วอลแตร์เน้นว่าความบังเอิญเป็นตัวการที่ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ ประการที่สองคือ เขาได้เน้นให้เห็นถึงบทบาทของมหาบุรุษ เช่น พระเจ้าชาร์ลมาญ (Charlemagne) ว่าเป็นผู้นำมนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและอารยธรรม

จดหมาย (La correspondance)

[แก้]

จดหมายของวอลแตร์ จัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่ไม่ด้อยไปกว่าผลงานประเภทอื่นๆ วอลแตร์เขียนจดหมายติดต่อกับผู้คนทั่วทั้งยุโรป รวมถึงกษัตริย์และขุนนางผู้มีอำนาจ จดหมายของเขามีจำนวนมากกว่า 10,000 ฉบับ จดหมายเหล่านี้ได้แสดงถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นตลอดศตวรรษที่ 18 รวมถึงการถกปัญหาต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานเพื่อศึกษาเรื่องราวในสมัยนั้นได้

กวีนิพนธ์ (Les œuvres poétiques)

[แก้]

นอกจากวอลแตร์จะได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักเขียนบทละครและนักเล่านิทานแล้ว ในด้านกวีนิพนธ์ เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นกวีคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงเช่นกัน งานเขียนประเภทนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้งกวีประเภทแสดงความรู้สึก (Lyrique) และแม้แต่มหากาพย์ (Epique)

ผลงานประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • La Henriade (1728)
  • Poème sur le désastre de Lisbonne (1756)

La Henriade (1728)

[แก้]

มหากาพย์ La Henriade บทกลอนขนาดยาวที่วอลแตร์แต่งขึ้นขณะที่ถูกขังที่คุกบาสตีย์ เพื่อสดุดีพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 (Henri IV) แห่งฝรั่งเศส ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงขันติธรรมในด้านศาสนา คือทรงเป็นผู้บัญญัติ “L’Edit de Nantes” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้สงครามระหว่างพวกคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ยุติลงได้ วอลแตร์ได้โจมตีความบ้าคลั่งทางศาสนา ซึ่งได้มากระทบวิถีชีวิตของกษัตริย์ผู้กล้าพระองค์นี้อีกด้วย

Poème sur le désastre de Lisbonne (1756)

[แก้]

บทกวีว่าด้วยภัยพิบัติที่เมืองลิสบอนน์ เป็นบทกวีที่วอลแตร์เขียนเมื่อทราบข่าวแผ่นดินไหวในเมืองลิสบอนน์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 25,000 คน เขารู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้มาก เขาจึงเขียนบทกวีนี้เพื่อกล่าวประณามโชคชะตา (La providence) หรือพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงความเชื่อทางศาสนาในสมัยนั้นว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานเป็นไปด้วยดี“ กล่าวได้ว่าบทกวีนี้ทำให้วงการศาสนจักรสั่นสะเทือน อย่างไรก็ตามวอลแตร์ไม่สามารถเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ได้เพราะขาดจินตนาการอ่อนไหวและคอยที่จะเสียดสีโจมตีผู้อื่น

บทละคร (Les œuvres dramatiques)

[แก้]

อาจกล่าวได้ว่า วอลแตร์เปรียบเสมือนตัวแทนของการเขียนบทละครโศกนาฏกรรมแนวคลาสสิกของศตวรรษที่ 18 แม้ว่าบทละครโศกนาฏกรรมจะเป็นผลงานด้านวรรณคดีที่ส่งผลให้เขาเป็นที่รู้จักและมีฐานะเทียบเท่ากอร์เนย (Corneille) และราซีน (Racine) นักเขียนบทละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 17 แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้นัก เนื่องจากเขาต้องการใช้บทละครของเขาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดทางปรัชญาของเขา บทละครส่วนใหญ่ของเขาจึงมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงการปลุกสำนึกสังคมในด้านการเมือง ศาสนาและศีลธรรม และเขายังสอดแทรกความคิดเสียดสีโจมตีผู้อื่นมากเกินไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับวงการละครฝรั่งเศสนั้น วอลแตร์นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะนักประพันธ์และผู้ที่มีบทบาทต่อการแสดงละครเวทีฝรั่งเศส

ผลงานประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • Œdipe (1718)
  • Zaïre (1732)
  • Mohamet (1742)
  • Mérope (1743)

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเรื่องที่โดดเด่น คือ

Œdipe (1718)

[แก้]

บทละครโศกนาฏกรรมเรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับวอลแตร์เป็นอย่างมาก เขาเขียนขึ้นขณะที่อยู่ในคุกเพื่อต่อต้านความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อเรื่องโชคเคราะห์และชะตาลิขิต และเพื่อเน้นความสำคัญของเสรีภาพของมนุษย์ โดยเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ชื่อ เออดิปป์ ซึ่งได้ฆ่าพ่อของตนเองที่ชื่อ ไลนัส ตาย และไปแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง นามว่าโจคาสต์ โดยมารู้ที่หลังว่าผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ของเขาเอง ดังนั้นเขาจึงลงโทษตัวเองโดยการควักลูกตา และแม่ก็ฆ่าตัวตาย

Zaïre (1732)

[แก้]

บทละครโศกนาฏกรรมเรื่องนี้ของวอลแตร์ดัดแปลงบทละครมาจากเรื่อง โอเธลโล (Othello) ของเชคสเปียร์ เนื่องจากวอลแตร์มีความนิยมชมชอบละครของเชคสเปียร์ เขาจึงพยายามที่จะนำองค์ประกอบที่เขาเชื่อว่าดีในละครของเชคสเปียร์มาผสมผสานเข้ากับโศกนาฏกรรมแนวคลาสสิก ได้แก่ การแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง เหตุการณ์อันน่าตื่นเต้น ฉากที่มีละครต่างถิ่น ตัวละคร แก่นเรื่อง การผูกเรื่อง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกกฎเกณฑ์เอกภาพแบบคลาสสิก

แก่นของละครเรื่องนี้คือ ความรัก จึงทำให้ละครเรื่องนี้ต่างออกไปจากลักษณะความเป็นโศกนาฏกรรมแนวคลาสสิก สำหรับละครเรื่องนี้ วอลแตร์ได้แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากอารมณ์ที่รุนแรง ความหึงหวง จนนำไปสู่การฆ่าผู้อื่นและการฆ่าตัวตาย ผลงานชิ้นนี้ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

นิทานหรือนิยายเชิงปรัชญา (Les contes ou romans philosophiques)

[แก้]

นิทานนิยายเหล่านี้เป็นงานเขียนเชิงเสียดสี (Satirique) ที่วอลแตร์ใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความคิดทางปรัชญาเข้าสู่มหาชน อย่างไรก็ตามเขาก็มีความสามารถในการเล่านิทานเป็นอย่างดี คือ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน สนุกแฝงอารมณ์ขัน ไม่น่าเบื่อและสามารถใส่รสชาติแก่คุณค่าของสิ่งที่มาจากต่างแดน ดังนั้นงานประเภทนี้เองที่ทำให้วอลแตร์กลายเป็นอมตะ นิทานแต่ละเรื่องจะมุ่งแสดงความคิดที่สำคัญที่สุดหนึ่งอย่างและพร้อมกันนั้นเขาก็เสียดสีและโจมตีสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะสถาบันศาสนาและกระบวนการยุติธรรม

นิทานปรัชญาของวอลแตร์ที่สำคัญและน่าสนใจมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่น

  • Zadig (1747) แสดงให้เห็นถึงความไร้เหตุผลของชะตาลิขิต (La destinée) หรือพระเจ้า (La providence) ซึ่งขาดความยุติธรรม กล่าวคือ คนดียังต้องถูกลงโทษ คนชั่วกลับได้รับรางวัล
  • Micromégas (1752) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง
  • Candide (1759) กล่าวได้ว่าเป็นนิทานปรัชญาชิ้นเอกของวอลแตร์ เขาได้โจมตีลัทธิสุทรรศนิยม (L’optimisme) ของ ไลบ์นิซ (Leibnitz) ซึ่งเป็นลัทธิที่สอนให้มนุษย์มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา กล่าวคือ พระเจ้าไม่อาจสร้างโลกที่ดีพร้อมสมบูรณ์ได้ พระเจ้าจึงสร้างโลกให้มีความทุกข์ยากและความเลวร้าย ดังนั้นเมื่อมนุษย์ได้ผ่านพ้นเหตุการณ์อันเลวร้ายแล้ว ต่อมาก็จะมีความสุขและความดีที่ยิ่งใหญ่ก็จะตามมาเป็นเครื่องชดเชย
  • L’ingénu (1767) เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติกับสังคม และความขาดขันติธรรมของคริสต์ศาสนา

จากผลงานโดยรวมแล้ว เราจะเห็นได้ว่าวอลแตร์พยายามสอดแทรกความคิดทางปรัชญาและการโจมตีเสียดสีต่าง ๆ ไว้มากมายในผลงานของเขาอยู่เสมอ จึงทำให้ผลงานวรรณกรรมบางด้านไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้ทำให้ชาวฝรั่งเศสในสมัยนั้นมีความคิดตามและความคิดกว้างขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านในเวลาต่อมา

Zadig ou la destinée

[แก้]

นิยายปรัชญาเรื่องซาดิก หรือชะตาลิขิต นับเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของวอลแตร์เช่นกัน ซึ่งผลงานชิ้นนี้มีชื่อเสียงมากพอกับนิยายปรัชญาเรื่องอื่น ๆ แห่งยุค วอลแตร์ได้อาศัยจินตนาการจากนิยายตะวันออก ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการเสียดสีและวิจารณ์สังคมฝรั่งเศสสมัยนั้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า นิยายปรัชญาเรื่องซาดิกนี้เขาได้แรงบันดาลใจจากชะตาชีวิตที่ผกผันของเขาในราชสำนักระหว่างปีค.ศ. 1743 - 1747 ที่เกิดจากประสบการณ์อันขมขื่นของวอลแตร์ในราชสำนักแวร์ซาย (Versailles) ก็คงไม่ผิด เนื่องจากในเรื่องนี้วอลแตร์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองผ่านตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งก็คือ ซาดิก

Candide ou l’optimisme

[แก้]

ปรัชญานิยายเรื่องก็องดิดด์ ถือเป็นเรื่องแต่งร้อยแก้วชิ้นเอกของวอลแตร์ ผลงานชิ้นนี้ได้ยืนยันความเป็นปราชญ์ของเขา ผู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดวิพากษ์วิจารณ์ในศตวรรษที่ 18 ได้เป็นอย่างดี

วอลแตร์ใช้นิทานของเขาเป็นสื่อการแสดงความเป็นไปในโลกนี้ เขามักจะแสดงความคิดเห็นผ่านทางตัวละครในนิยายและแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นของเขาต่อสังคมในทุก ๆ ด้านผ่านตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเสมือนภาพสะท้อนชีวิตของวอลแตร์และเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เขาได้แสดงทัศนะและความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี