ข้ามไปเนื้อหา

ปีศาจแห่งโรงอุปรากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีศาจแห่งโรงอุปรากร
ภาพปกฉบับจัดพิมพ์ ค.ศ. 1921
ผู้ประพันธ์กัสตง เลอรู
ชื่อเรื่องต้นฉบับLe Fantôme de l'Opéra
ประเทศฝรั่งเศส
ภาษาภาษาฝรั่งเศส
ประเภทบันเทิงคดีกอทิก
สำนักพิมพ์Pierre Lafitte and Cie.
วันที่พิมพ์September 23, 1909 to January 8, 1910
พิมพ์ในภาษาอังกฤษ
1911
ชนิดสื่อPrint (Serial)
OCLC15698188

ปีศาจแห่งโรงอุปรากร (อังกฤษ: The Phantom of the Opera; ฝรั่งเศส: Le Fantôme de l'Opéra) เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสนามว่า กัสตง เลอรู เป็นนวนิยายแนวโกธิกแบบลึกลับสยองขวัญซึ่งอิงจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในโรงอุปรากรการ์นิเย่ของฝรั่งเศส และมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความรักสามเส้าระหว่างชายอัปลักษณ์ชื่ออีริค (แฟนธ่อม) คริสติน ดาเอ้ ผู้เป็นนักร้องอุปรากรสาวซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขา และราอูล ซึ่งเรื่องนี้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่เศร้าสลด

จากเนื้อหาที่คลาสสิกของ ปีศาจแห่งโรงอุปรากร นี้เอง ที่ทำให้มีการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, ละครเวที และละครเพลงอยู่บ่อยครั้งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และยังมีบทประพันธ์ลูกอีกหลายเรื่อง อาทิเช่น The Phantom (โดย Susan Kay), แฟนทอมออฟเดอะแมนแฮตตัน เป็นต้น

นิยายเรื่อง ปีศาจแห่งโรงอุปรากร นับเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจากกัสตง เลอรูได้เขียนขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยนับจากช่วงเวลาที่เขาเขียนนิยายย้อนกลับไปประมาณสามสิบปี ซึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจแก่เลอรู คือ "การตกลงมาอย่างไม่ทราบสาเหตุของโคมระย้า" ระหว่างอุปรากรเรื่อง "เฟาสต์" ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคนและเสียชีวิตหนึ่งคน, การจมน้ำเสียชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ ในคลองใต้โรงละครอย่างลึกลับ, การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของเคาต์ฟิลลิปป์ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์โรงละคร และมีการพบศพของเขาที่ปากท่อระบายน้ำ, เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ผี" ในโรงละคร และการที่โรงละครจะต้องสูญเงินอย่างเป็นปริศนามากถึง 20,000 ฟรังส์ต่อเดือนในช่วงนั้น

แม้ในนิยาย "ผีแห่งโรงละคร" จะเป็นเรื่องที่พูดกันมากในช่วงเวลานั้นจริง ๆ แต่แท้จริงแล้ว เรื่องของผีไม่ใช่เรื่องแพร่หลาย หากเป็นเรื่องที่รู้กันลับ ๆ เฉพาะในหมู่คนที่ทำงานในโรงอุปรากรเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เรื่องของผีตนนี้โด่งดังขึ้นจากนวนิยายของเลอรูนั้นเอง

กัสตง เลอรูได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเชื่อเรื่องที่เขาเขียน และยังอ้างว่าระหว่างการซ่อมแซมโรงอุปรากรการ์นิเย่ เขาได้พบศพของมนุษย์ ซึ่งเขาแน่ใจว่านั่นคือ อีริค-ผีแห่งโรงละคร โดยอ้างว่าโครงกระดูกนั่นมี "แหวนทองคำเกลี้ยง" สวมที่นิ้ว ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนเปอร์เซียที่ว่า "เขาได้รับแหวนทองคำจากคริสติน ดาเอ้ในวันที่เธอทิ้งเขาไป" แต่เลอรู ไม่ได้บอกว่าร่างที่เชื่อว่าเป็นอีริคนั้นถูกย้ายไปไว้ที่ไหน

ตัวละครสำคัญ

[แก้]
  • อีริค (Erik-ไม่ปรากฏว่ามีนามสกุล) - บุรุษที่มีน้ำเสียงไพเราะราวกับเทพจากสวรรค์ซึ่งสวนทางกับใบหน้าที่เสียโฉมอย่างรุนแรงจนถึงขั้นอัปลักษณ์ แฝงตัวเองใว้ภายใต้ชื่อ "ปีศาจแห่งโรงอุปรากร (The Phantom of the Opera)" เนื่องจากต้องการหลบหนีความโหดร้ายของสังคมมนุษย์ ซึ่งความโหดร้ายของสังคมมนุษย์นี่เองที่ทำให้เขากลายเป็นคนเสียสติและถูกคนในโรงละครเข้าใจผิดว่าเป็นผี เขาเป็นอัจฉริยะทางดนตรีที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโรงละคร เขาเป็นผู้ปลุกปั้นคริสตินให้เป็นเพชรเม็ดงามของโรงละครและรักเธอในที่สุด ในนวนิยายบรรยายถึงเขาว่ามีดวงตาสีทอง มีรูปลักษณ์ที่ผอมและบอบบางอย่างมากจนราวกับโครงกระดูกที่มีชีวิตซึ่งลักษณะอันนี้ทำให้เขาเคยถูกจับโชว์ในชื่อ "ซากมีชีวิต" และถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ในหนังสือนอกจากเขาจะมีความเป็นอัจฉริยะหลายด้านแล้ว เขายังใช้คำลักษณนามถึงตนเองเป็นบุคคลที่สามราวกับกำลังเล่าเรื่องอยู่อีกด้วย
  • คริสติน ดาเอ้ (Christine Daaé) - หญิงสาวนักร้องอุปรากรชาวสวีเดน ลูกศิษย์ของอีริค มีดวงตาสีฟ้าและผมสั้นสีบรอนซ์ เธอเชื่อว่าเขาเป็นทูตสวรรค์เพราะน้ำเสียงอันไพเราะผิดมนุษย์กับความลึกลับของเขา และความหลงใหลในน้ำเสียงอันไพเราะของเขาและความอยากรู้อยากเห็นก็ทำให้เธอกระชากหน้ากากของเขา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโศกนาฏกรรมก็ว่าได้
  • ราอูล, ไวเคานต์ เดอ ชานี (Raoul, Viscount de Chagny) - บุรุษรูปงามผู้เป็นเพื่อนรักกับคริสตินมาตั้งแต่เด็ก เป็นชายหนุ่มที่ทรงเสน่ห์ และเขาพบรักคริสทีน ดาเอ้ เมื่อ4ปีที่แล้ว เขาเป็นน้องชายของเคาต์ฟิลลิปป์ เดอ ชานี ผู้อุปถัมภ์โรงละคร
  • คนเปอร์เซีย ตัวละครสำคัญของเรื่อง เป็นผู้ที่เปิดเผยเรื่องราวของอีริค และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนเดียวที่อีริคสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเพื่อน เขาเป็นเจ้าของวลีที่ว่า "ยกมือขึ้นระดับสายตา" เพราะหากยกมือขึ้นระดับสายตา ห่วงปันจาบจะลงมาคล้องคอไม่ได้ กัสตง เลอรูบรรยายถึงเขาว่า "มีผิวสีน้ำตาลเข้มและดวงตาสีเขียวเหมือนหยก" ไม่ปรากฏชื่อในเรื่อง แต่อีริคเรียกเขาว่า "ดาโรก้า" ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าตำรวจของอิหร่าน ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่าเขาเป็นข้าราชการ เขาเป็นผู้ที่ช่วยอีริคจากความโหดร้าย
  • มาดามจีรี เป็นคนเดินสารระหว่างอีริคกับโรงอุปรากร เพราะเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากเขามาก่อน และเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่นอกจากจะไม่กลัวเขาแล้วยังรู้สึกสงสารเขา เธอเป็นผู้เก็บรักษากล่องดนตรีของอีริคหลังความตายของเขา
  • เม็ก จีรี ลูกสาวของมาดามจีรี เป็นดาวนักบัลเลต์อันดับหนึ่ง เธอมีผมสีดำ ผิวคล้ำ และตาสีดำ เหมือนชาวชวา หรือ ศรีลังกา ซึ่งแตกต่างจากคนฝรั่งเศสทั่วไป(คาดว่าเธอจะเหมือนพ่อ) ซึ่งเป็นปมด้อยที่ทำให้เธอมักพูดถึงตัวเองว่า "ผู้หญิงชั้นต่ำ น่าสมเพช" อีริคเคยทำนายไว้ด้วยไพ่ทาโรต์ว่า "เธอจะได้เป็นจักพรรดินีของแม่" และภายหลังเธอได้กลายเป็นภรรยาขุนนาง ตามที่อีริคเคยทำนาย
  • เคานต์ฟิลลิปป์ เดอ ชานี (Count Philippe de Chagny) พี่ชายของราอูล มีอายุมากกว่าราอูลถึง 20 ปี และเป็นคนที่ผู้ประพันธ์นิยายอ้างว่าความตายของเขาเป็นเหตุให้ผู้ประพันธ์ค้นหาความจริง และได้พบกับคนเปอร์เซียและมาดามจีรี ซึ่งทั้งคู่ได้เปิดเผยเรื่องราวของอีริค

เรื่องย่อ

[แก้]

คริสตินได้สูญเสียพ่อและแม่จนต้องมาอยู่ที่โรงอุปรากรการ์นิเย่ มีโอกาสได้รับการสอนร้องเพลงจากครูที่ลึกลับที่เห็นพรสวรรค์ของเธอ ซึ่งเธอเรียกเขาว่า "เทวดาแห่งบทเพลง" เพราะความลึกลับและน้ำเสียงที่ไพเราะยิ่งกว่าเสียงของมนุษย์คนใดในโลกที่เธอเคยได้ยินได้ฟัง จากการเคี่ยวเข็ญอย่างจริงจัง ในที่สุดเธอก็เก่งพอที่จะขึ้นร้องเพลงแทนคาลอตต้าที่ป่วยได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นประจวบกันที่เคาต์ฟิลลิปป์ได้เข้ามาเป็นผู้อุปถัมป์โรงละคร ทำให้ราอูลซึ่งเป็นน้องชายของท่านเคาต์ และเป็นเพื่อนวัยเด็กของเธอเกิดจำเธอได้และเข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์กับเธอ เหตุการณ์นี้ทำให้อีริคอิจฉาและกลัวว่าจะถูกทิ้งจึงมาแนะนำตัวกับเธอในคืนๆ หนึ่ง และพาเธอไปยังถ้ำใต้ดินของโรงอุปรากรซึ่งเขาใช้เป็นที่ซ่อนตัว คืนนั้นอีริคได้สารภาพรักกับคริสติน ระหว่างที่ร้องเพลงประสานเสียงกันนั้นเอง คริสตินอดทนต่อความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้และถอดหน้ากากเขาออก ทำให้เธอได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเทวดาของเธอไม่ใช่เทพจากสวรรค์อย่างที่วาดฝันไว้ แต่เป็นชายอัปลักษณ์ที่น่าสังเวชซึ่งถูกสังคมทารุณจนกลายเป็นคนเสียสติ คริสตินหวาดกลัวและขอร้องให้เขาปล่อยเธอไป ซึ่งเขาก็ยอมตาม โดยมีข้อแม้ว่าเธอต้องไม่แพร่งพรายเรื่องของเขา และติดต่อกับเขาตามปกติ

ราอูลแอบได้ยินคริสตินกับอีริคคุยกันในห้องแต่งตัว ด้วยความหึงหวงราอูลจึงพยายามสืบหาว่าคริสตินแอบพบกับใครเป็นการลับๆ กันแน่ จนกระทั่งในงานราตรีหน้ากาก เมื่อคริสตินพาราอูลออกจากงานเลี้ยงเพราะอีริคได้ปรากฏตัวในคราบ "มัจจุราชแดง" (the red Death) เขาจึงคาดคั้นเอากับเธอ และรู้ความจริงว่าภายใต้ชุดมัจจุราชแดงนั้นคือคนบ้า-อัปลักษณ์ (ไม่ใช่หนุ่มน้อยรูปงามอย่างที่กลัว) ที่มีความเป็นอัจฉริยะในตัว ทำให้เขาสบายใจและบอกเธอว่าจะปกป้องเธอ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจจะรักกัน และทำให้อีริคที่แอบฟังอยู่เสียใจมาก การพยายามค้นหาความจริงทำให้ราอูลได้รู้เรื่องราวของอิริคจากชายลึกลับชาวเปอร์เซีย ส่วนอีริคนั้น เมื่อทนต่อความเสียใจและอุปสรรคที่บีบเข้ามาทุกทางไม่ได้ อีริคก็ลักพาคริสตินไปขังไว้ที่ถ้ำใต้ดินของโรงอุปรากรและขอร้องไปจนถึงบังคับให้เธอเลือกเขา เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีคนตายจากการกระทำของอีริคมากมาย รวมทั้งเคานต์ฟิลลิปป์ ทำให้ราอูลตัดสินใจตามหาเขาเพื่อช่วยคริสตินและล้างแค้น

อีริคได้ไปพบชายชาวเปอร์เซียที่บ้าน และบอกเล่าเรื่องราวเกิดขึ้น ทำให้ชายชาวเปอร์เซียเข้าใจในความรักที่อีริคมีต่อคริสติน ในการพบกันครั้งสุดท้ายคริสตินได้ยอมเสียสละเพื่อช่วยชีวิตราอูล โดยก้มลงจูบอีริคอย่างไม่รังเกียจ ทำให้อีริคที่พิการทั้งร่างกายและจิตใจได้รับความสุขอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต อีริคตัดสินใจปลดปล่อยคริสติน และราอูลเป็นอิสระ จากนั้นก็ล้มป่วยด้วยความตรอมใจ และเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในอีก 3 สัปดาห์ถัดมา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]