บรรจบ เจริญพร
บรรจบ เจริญพร | |
---|---|
บรรจบ เจริญพร | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 บรรจบ เจียวเล้ง จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (76 ปี) โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | สมใจ อุดมร่วมใจ |
บุตร | 2 คน |
อาชีพ | นักร้อง นักแต่งเพลง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2511 – 2559 |
บรรจบ เจียวเล้ง หรือ บรรจบ เจริญพร (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นชาว จ.ชลบุรี เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งเมื่อปี 2511 โดยมาเชียร์รำวงมากับบุปผา สายชล คนบ้านเดียวกัน ที่คณะรำวง ส.ดาราศิลป์ และต่อมาได้ย้ายไปอยู่กับวงดาราน้อย คณะรำวงชื่อดังของชลบุรี ที่มี เรียม ดาราน้อย, พนม นพพร, ฉลอง ภู่สว่าง สังกัดอยู่
ประวัติ
[แก้]บรรจบ เจริญพร มีชื่อจริงว่า บรรจบ เจียวเล้ง ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น อุดมร่วมใจ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2483 พ่อชื่ออุดม แม่ชื่อเต้า เจียวเล้ง เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน โดยเขาเกิดที่บ้านกลาง ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งพ่อแม่มีอาชีพทำนาและทำไร่อ้อย จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ โรงเรียนเหมือนวิเทศราษฎร์บำรุง วัดบ้านกลาง
ในวัยเด็ก บรรจบชอบการร้องเพลงลูกทุ่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ และเขายังเคยเป็นกองเชียร์รำวงอยู่กับวงคณะ “ดาราศิลป์” ต่อมาย้ายมาอยู่กับวง “ดาราน้อย” ซึ่งบรรจบเขาเป็นผู้ชักนำ บุปผา สายชล เข้ามาอยู่กับคณะ “ดาราน้อย” อีกด้วย ซึ่งรำวงคณะดาราน้อยนี้มี เรียม ดาราน้อย, พนม นพพรและฉลอง ภู่สว่าง สังกัดร่วมอยู่ด้วย ว่ากันว่าชื่อเสียงของบรรจบขณะที่อยู่กับคณะดาราน้อยนั้นโด่งดังมาก โด่งดังถึงขั้น สุรพล สมบัติเจริญต้องแอบมาชมการร้องเพลงของเขา เนื่องจากบรรจบร้องเพลงในแนวของสุรพล พร้อมกับชมว่านักร้องคนนี้มีอนาคตไกล
เส้นทางสู่วงการเพลง
[แก้]เมื่อ บุปผา สายชล ที่ออกจากรำวงคณะดาราน้อย แล้วไปอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์ และเมื่อบุปผาออกจากวงดนตรีจุฬารัตน์ ไปอยู่กับวงกระดิ่งทอง ของ ศรีไพร ใจพระ บุปผาจึงชักชวนบรรจบไปร่วมวงด้วย แรก ๆ บรรจบลังเลเหมือนกัน เนื่องจากเขาเป็นกำลังหลักในการช่วยพ่อแม่ทำไร่อ้อย แต่การไปเป็นนักร้องนั้นก็เป็นสิ่งที่ตนเองปรารถนาเหมือนกัน ในที่สุดเมื่อพ่อแม่อนุญาตก็ติดตามบุปผา สายชล เข้ากรุงเทพฯ และได้สังกัดวงดนตรี “กระดิ่งทอง” ของ “ศรีไพร ใจพระ” สมปรารถนาในปี พ.ศ.2510
บรรจบขึ้นเวทีร้องเพลงครั้งแรกในงานรับเชิญที่สมาคมไคเช็กชน แถวเพชรบุรีตัดใหม่ โดยร้องเพลง แฟนจ๋า, สิบหกปีแห่งความหลัง ของสุรพล สมบัติเจริญ แต่บรรจบได้ขึ้นร้องเพลงกับวงกระดิ่งทองงานแรกคือที่วัดเซิงหวาย บางซ่อน กรุงเทพฯ โดยเขาร้องเพลงของครูสุรพลเป็นหลักดังเดิม เช่น เสียวไส้, ของปลอม, หนักใจ, สนุกเกอร์ และอีกหลายเพลง เขายังจำได้ว่าแฟนเพลงปรบมือให้การต้อนรับเขาอย่างเนืองแน่นตามกลายสายฝน เขาทั้งตื่นเต้นและดีใจอย่างบอกไม่ถูก
โด่งดัง
[แก้]อยู่กับศรีไพร ใจพระ ได้ไม่นานก็ได้บันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต คือเพลง “อย่าเดินโชว์” ผลงานการประพันธ์ของครูสุรินทร์ ภาคศิริ โดยใช้ชื่อนักร้องว่า บรรจบ ใจพระ โดยเพลงนี้ ได้ทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่นชื่อ ฮอกไกโด ซารันบูจิ ซึ่งสุรินทร์ ภาคศิริ บอกเอาไว้ในหนังสือ เบื้องหลังเพลงดัง ว่า ที่มาของเพลงนี้ก็คือการที่ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ที่กำลังดังจากเพลง ผู้ใหญ่ลี ได้ร้องเพลงญี่ปุ่นให้ฟังเพลงหนึ่ง พร้อมกับขอให้เขานำเนื้อไทยลงไปแทน ด้วยความที่อยากจะแสดงความสามารถในฐานะนักแต่งเพลงหน้าใหม่ ที่เพิ่งมีผลงานเพลงได้รับการบันทึกเสียง ประกอบกับสมัยนั้นไม่มีเทปบันทึกเสียง การต้องมาจดจำทำนองให้ได้ก่อนลงมือแต่ง จึงเป็นเรื่องที่เสียเวลา สุรินทร์ก็เลยขอให้ศักดิ์ศรีร้องเพลงให้ฟังทีละท่อน ก่อนที่เขาจะใส่เนื้อเพลงทีละท่อนตามไป เมื่อร้องจบ เขาก็ใส่เนื้อจบเพลงพอดี ต่อมาเพลงนี้ก็คือเพลง สัญญาที่โตเกียว และต่อมา สุรินทร์ก็นำทำนองเพลงนี้มาใส่เนื้ออีกครั้ง สำหรับผู้ชายร้อง จนกลายเป็นเพลง อย่าเดินโชว์
เพลง อย่าเดินโชว์ สร้างชื่อเสียงให้เขาพอสมควร ต่อมามีเพลงติดตามออกมาอีก เช่น ม่วยสวนผัก, สุรพลคนกล่อมโลก, ฮักสาวลำชี, 12ปีแห่งการรอคอย, โรคใจง่าย, แด่สุรพลที่รัก, กระทบไหล่ดารา, หนาวนี้อยากมีคู่ ฯลฯ
หลังจากครูสุรพลเสียชีวิตในปี พ.ศ.2511 โชควาสนาก็วิ่งมาชนเขา เมื่อรังสี ทัศนพยัคฆ์ นำเรื่องราวของสุรพลมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง “สุรพลลูกพ่อ” ครูรังสีได้ข่าวว่ามีนักร้องวง “กระดิ่งทอง” คนหนึ่งหน้าตาคล้ายสุรพล และคืนหนึ่งที่วิกบางขุนเทียน ในขณะที่วงทำการแสดง ครูรังสีก็ไปเป็นแมวมอง และก็ไม่ผิดหวัง เพราะหน้าตาและเสียงร้องของบรรจบเหมือนสุรพลมาก จึงเข้าไปทักทายและบอกว่าพรุ่งนี้เช้าให้ไปพบครู จะให้เล่นหนัง ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับบรรจบเป็นอย่างมาก รุ่งเช้าก็ไปพบครูรังสี และก็ได้เป็นพระเอกภาพยนตร์เรื่อง “สุรพลลูกพ่อ” แสดงเป็นตัว “สุรพล” คู่กับ “โสภา สถาพร” จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้บรรจบเป็นที่รักของแฟนเพลงทั้งประเทศ เนื่องจากการได้ฟังเสียงเขา ได้เห็นหน้าเขา ทำให้แฟนเพลงคลายความคิดถึง “สุรพล” ลงไปได้บ้าง
อยู่กับศรีไพร ใจพระได้ปีกว่า ๆ ก็ลาออก ด้วยเหตุผลส่วนตัว เคยนึกท้อใจจนจะกลับไปทำไร่ทำนาอยู่บ้านชลบุรี แต่ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ได้ยับยั้งเอาไว้ ครูเตือนสติเขาว่า อุตส่าห์ดิ้นรนต่อสู้มาจนถึงขั้นนี้ คิดท้อถอยเสียแล้วหรือ เขาจึงตัดสินใจอยู่สู้ต่อไป และได้ตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองขึ้นมา จากการสนับสนุนของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ โดยใช้ชื่อวงว่า บรรจบ เจริญพร โดยได้เชิญครูประดิษฐ์ อุตตะมัง, พีระ ตรีบุปผา, สุนทร คางแพะ มาเป็นนักดนตรีและโฆษก ต่อมามีครูฉลอง ภู่สว่าง เข้ามาร่วมด้วย ส่วนนักร้องในวงมี ชินกร ไกรลาศ, พจน์ พนาวัน, ทิว สุโขทัย, อรรณพ อนุสรณ์, บรรจง ทรงกรด, วิไลรัตน์ ใจภักดี, พิณ พรสวรรค์, ไพรสณฑ์ ลูกวิเศษ หรือต่อมาคือ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง อีกทั้งยังมี ยอดเพชร ราชสีมา หรือ ระพิน ภูไท เข้ามาร่วมด้วย รับงานเดินสายทั่วไป ซึ่งงานด้านวงดนตรีก็ไปได้ดี
ด้านการแสดงภาพยนตร์ครูรังสีก็สนับสนุนให้เขาแสดงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง เช่น ชาติลำชี, มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งเขาได้รับบทเป็นตัวเด่นทั้ง 2 เรื่อง ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้น อีกทั้งช่วงนี้บรรจบได้ปรากฏตัวร้องเพลงในหนังเรื่อง จุ๊บแจง (พ.ศ.2513) สมบัติ-อรัญญา อีกด้วย บรรจบได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ชาติลำชี หนึ่งเพลงคือ ฮักสาวลำชี และมนต์รักลูกทุ่งมีเพลงที่ขับร้องถึง 3 เพลงคือเพลง หนุ่มพเนจร, รักร้าวหนาวลม และ ใจเจ้าชู้ หลังจากนั้นบรรจบก็มาปรากฏตัวบนจอเงินอีกครั้งเมื่ออายุ 40 กว่าปี โดยได้แสดงหนัง เรื่อง สะใภ้นิโกร (พ.ศ.2523) และเรื่อง พลฯ ทองดีใจซื่อ (พ.ศ.2525) ให้กับ เปี๊ยก ดารณี ณ วังอินทร์ นักพากย์หนังชื่อดัง (ขุนแผน-ดารณี) ซึ่งให้ความเคารพรักครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ดุจบิดา
ด้านผลงานเพลงที่ออกมาในช่วงนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น ใจเจ้าชู้, หนุ่มพเนจร, รักร้าวหนาวลม, เสียงจากบรรจบ, มนต์รักตาปี, งามแท้ แม่สาว, ฮื้อน่อ ฮื้อน่อ, สาวสมัยใหม่, ทีหลังอย่าซน ฯลฯ และบรรจบยังสามารถแต่งเพลงได้ด้วย ซึ่งแต่งเพลงให้ เบ็นจา พาเจริญ ในชื่อเพลง คนตามใจเมีย
บ้านและสำนักงานดนตรีของเขาอยู่ที่ 161/37 ซอยบุปผาสวรรค์ จรัลสนิทวงศ์ ธนบุรี ซึ่งเรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในตำนานของวงการลูกทุ่ง เพราะในสมัยที่วงการลูกทุ่งกำลังเฟื่องฟู ซอยบุปผาสวรรค์ถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงทางธุรกิจของวงการลูกทุ่งไทยเลยทีเดียว และผู้เปิดตำนานนี้ก็คือบรรจบ เจริญพร
วงดนตรีของบรรจบ เจริญพร รับใช้พี่น้องแฟนเพลงอยู่ได้ประมาณ 10 ปีก็เลิกวง แต่ก็ยังคลุกคลีอยู่กับวงการเพลง รับเชิญไปร้องตามงานทั่วไปตลอดมา
บั้นปลาย
[แก้]บรรจบพักอยู่ในซอยบุปผาสวรรค์ และพยายามผลักดันผลงานเพลงอออกสู่ตลาดอยู่เสมอ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไร เพราะไม่มีทุนในการโปรโมต เช่นเพลง พรหมลิขิต, กางเกงหลุด โดยมีมนต์ เมืองเหนือสนับสนุน ซึ่งบรรจบ แต่งเองร้องเอง
สำหรับชีวิตครอบครัว บรรจบ เจริญพร สมรสกับคุณสมใจ อุดมร่วมใจ (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตรชาย,หญิง 2 คน ผู้ชายชื่อ มานพ อุดมร่วมใจ และผู้หญิงชื่อ มาณี อุดมร่วมใจ และมีหลานอีก 3 คน โดยบ้านยังอยู่ใกล้ ๆ กับซอยบุปผาสวรรค์ที่เดิม
ผลงานเพลง
[แก้]- อย่าเดินโชว์ (เมษายน 2511) สุรินทร์ ภาคศิริ
- สุรพลคนกล่อมโลก (ประกอบภาพยนตร์ สุรพลลูกพ่อ 2511)
- ฮักสาวลำชี (ประกอบภาพยนตร์ ชาติลำชี 2512) สุรินทร์ ภาคศิริ
- หนุ่มพเนจร (6 พฤศจิกายน 2512 ประกอบภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง
- รักร้าวหนาวลม (11 ธันวาคม 2512 ประกอบภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
- สิบสองปีแห่งการรอคอย
- ใจเจ้าชู้ (31 ธันวาคม 2512) ประกอบภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง
- เสียงจากบรรจบ
- เซ้า ๆ อย่าเว้าหลาย (ประกอบภาพยนตร์ จุ๊บแจง 2513)
- คุณพ่อไม่สปอร์ต (ประกอบภาพยนตร์ มนต์รักจากใ จ2514)
- หมดท่า (ประกอบภาพยนตร์ มนต์รักจากใจ 2514)
- กระทบไหล่ดารา
ผลงานภาพยนตร์
[แก้]- สุรพลลูกพ่อ (2511)
- ชาติลำชี (2512)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
- จุ๊บแจง (2513)
- มนต์รักจากใจ (2514)
- สะใภ้นิโกร (2523)
- พลฯ ทองดีใจซื่อ (2525)
- มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545)
ลาลับ
[แก้]บรรจบ เจริญพร เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 05.10 ด้วยโรคตับแข็ง, ไตวาย หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตั้งแต่วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2559 สิริอายุได้ 76 ปี
โดยตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) และฌาปนกิจเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เวลา 16.00 น.
อ้างอิง
[แก้]- ชีวประวัติ บรรจบ เจริญพร สืบค้นเมื่อ 9/7/2559
- เส้นทางวงการเพลง บรรจบ เจริญพร[ลิงก์เสีย] สืบค้น 8/7/2559
- บรรจบ เจริญพร (ใจพระ) โลกภาพยนตร์[ลิงก์เสีย] สืบค้น 10/7/2559