ข้ามไปเนื้อหา

น็อทร์-ดามเดอปารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น็อทร์-ดามเดอปารี
ภาพประกอบฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ผู้ประพันธ์วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo)
ชื่อเรื่องต้นฉบับNotre-Dame de Paris
ผู้วาดภาพประกอบอัลเฟร บาร์โบ (Alfred Barbou)
ประเทศประเทศฝรั่งเศส
ภาษาภาษาฝรั่งเศส
ประเภทจินตนิยม
สำนักพิมพ์โกสเซอแล็ง (Gosselin)
วันที่พิมพ์14 มกราคม ค.ศ. 1831

น็อทร์-ดามเดอปารี (ฝรั่งเศส: Notre-Dame de Paris) เป็นนวนิยาย วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) ประพันธ์ เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1831 ชื่อ น็อทร์-ดามเดอปารี อันหมายถึง "มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส" นั้น เอาชื่อวิหารดังกล่าวซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่องมาตั้ง

ภูมิหลัง

[แก้]

วิกตอร์ อูว์โก เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ใน ค.ศ. 1829 ตามที่ตกลงไว้กับ โกสเซอแล็ง (Gosselin) สำนักพิมพ์ที่เขาสังกัด ว่าจะให้เสร็จภายในปีนั้น อย่างไรก็ดี วิกตอร์ก็มิอาจเสร็จตามกำหนด เพราะต้องขลุกอยู่กับโครงการหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ราวฤดูร้อนของปีรุ่งขึ้น สำนักพิมพ์โกสเซอแลงจึงร้องขอให้เขารีบเขียนนวนิยายเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 นั้น วิกตอร์จึงกว้านซื้อปากกา น้ำหมึก และเสื้อคลุมขนสัตว์ แล้วกักตัวเองอยู่ในห้องของบ้าน โดยสัญญากับตนว่าจะไม่ออกบ้านถ้างานไม่เสร็จ เว้นแต่ไปปฏิบัติศาสนกิจยามค่ำคืนที่วิหารน็อทร์-ดาม วิกตอร์ได้ "ปั่น" นวนิยายเรื่องนี้โดยไม่หยุดพัก และเสร็จภารกิจในอีกหกเดือนถัดมา

เรื่องย่อ

[แก้]

เรื่องเริ่มขึ้นในกรุงปารีส วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1482 อันเป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์และเป็นวันเทศกาลจำอวด ในวันนั้น กาซีโมโด คนตีระฆังวิหารน็อทร์-ดาม ซึ่งมีรูปกายอันพิกลพิการและหลังค่อม ได้ปรากฏกายต่อสาธารณชน เพราะเขาได้รับรางวัลเป็นมงกุฎสำหรับ "ราชาแห่งคนเขลา" (Pope of Fools)

ในวันเดียวกันนั้น นางแอสเมรัลดา หญิงนักร้องระบำชาวยิปซีผู้มีรูปโฉมงดงามเช่นเดียวกับจิตใจของนาง ได้ครองหัวใจของชายทั้งหลาย รวมถึง ร้อยเอกเฟบุส เดอ ชาโตแป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาซีโมโด กับบาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล ผู้เป็นอัครพันธบริกร (Archdeacon) แห่งวิหารน็อทร์-ดาม และเป็นบิดาบุญธรรมของกาซีโมโด

บาทหลวงฟร็อลโลยอมละเมิดศาสนวินัยพื่อความใคร่ทางกามารมณ์ของตน เขาสั่งให้กาซีโมโดลักตัวนางแอสเมรัลดามา ซึ่งกาซีโมโดยินยอมทำ เพราะเขาก็หลงรักนางอยู่เช่นกัน แต่กาซีโมโดถูกร้อยเอกเฟบุสและกองทหารจับตัวแล้วช่วยนางแอสเมรัลดาไว้ได้เสียก่อน ศาลพิพากษาให้ทวนกาซีโมโด แล้วนาบด้วยเหล็กร้อน ฝูงชนพากันมาชมดูการลงโทษกาซีโมโด และร้องร่ำเย้ยหยันแสดงความเหยียดหยามและสาแก่ใจ บาทหลวงฟร็อลโลปฏิเสธที่จะช่วยเหลือกาซีโมโดเมื่อเขาร้องเรียก ฝ่ายนางแอสเมรัลดา เมื่อเห็นว่ากาซีโมโดอยากน้ำ จึงฝ่าผู้คนเข้าไป แล้วส่งน้ำให้เขาดื่ม นี้ยิ่งทำให้กาซีโมโดรักนางมากขึ้น แต่นางแอสเมรัลดากลับรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อเห็นความอัปลักษณ์ของกาซีโมโด

นางแอสเมรัลดาหลงรักร้อยเอกเฟบุสผู้ช่วยเหลือนางไว้เป็นอันมาก ร้อยเอกเฟบุสปดนางว่าเขาก็รักนาง แต่อันที่จริงเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว ทั้งคู่จุมพิตกัน และขณะจะสมสู่กันนั้น บาทหลวงฟร็อลโลเห็นเข้าและคับแค้นใจเป็นอันมาก จึงลอบแทงร้อยเอกเฟบุสข้างหลัง นางแอสเมรัลดาตกใจจนสลบไป ฟื้นขึ้นก็พบว่าตนตกเป็นแพะรับบาปแทน และถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ขณะที่นางกำลังถูกพาตัวไปยังตะแลงแกงหน้าวิหารน็อทร์-ดามนั้น กาซีโมโดโหนสายระฆังวิหารลงมา แล้วชิงตัวนางเข้าไปในวิหารที่ซึ่งทุกชีวิตได้รับอภัยทานตามกฎหมาย และบาทหลวงฟร็อลโลรับปากจะให้นางอาศัยร่มพระศาสนาเป็นกำบังคุ้มภัยได้

ขณะเดียวกัน โกลแป็ง ทรูยีโฟ หัวหน้าชาวยิปซีซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นอั้งยี่และเรียกซ่องของตนว่า "วังปาฏิหาริย์" (Court of Miracles) ทราบเรื่องนางแอสเมรัลดาถูกจับ ก็ระดมชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารเพื่อช่วยเหลือนาง เวลานั้น ชาวปารีสพากันหาว่านางแอสเมรัลดาเป็นแม่มดบันดาลให้เมืองปั่นป่วน และเจ้าพนักงานกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ให้ทรงทราบถึงเหตุจลาจลในกรุงปารีส พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า ผู้คนมาชุมนุมเพื่อจะตามล่าสังหารแม่มด รัฐสภาจึงตราพระราชบัญญัติให้นางแอสเมรัลดาพ้นจากอภัยทานตามกฎหมาย และพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงบัญชาให้กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ แล้วประหารเหล่าผู้ก่อจลาจล ซึ่งรวมถึง "นางแม่มดแอสเมรัลดา" เสียให้สิ้น

ขณะเมื่อชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารนั้น กาซีโมโดเข้าใจว่าคนเหล่านั้นเข้ามาเพื่อจะทำร้ายนางแอสเมรัลดา จึงเข้าประจัญเพื่อปกป้องนาง กองทัพมาถึงในเวลานั้น และสังหารชาวยิปซีจนสิ้น รวมถึงโกลแป็งด้วย ในระหว่างนั้นเอง บาทหลวงฟร็อลโลให้นางแอสเมรัลดาตัดสินใจว่า จะยอมเป็นของเขาหรือไม่ นางปฏิเสธโดยไม่รีรอ เขาจึงส่งตัวนางให้แก่เจ้าพนักงาน โดยกล่าวว่า ถ้าเขาไม่ได้นาง ใครก็อย่าได้นางอีก และเห็นว่าเป็นการทำลายนางมารที่ล่อลวงให้เขาหลงใหลมัวเมา เขายืนอยู่บนหอระฆังชมดูการแขวนคอนางแอสเมรัลดาที่จัตุรัสเบื้องล่าง และระเบิดเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่งราวกับปิศาจขณะที่นางกำลังดิ้นตายในห่วงเชือก กาซีโมโดจึงผลักบาทหลวงฟร็อลโลผู้เลี้ยงตนมาจนเติบใหญ่ตกลงจากหอระฆัง บาทหลวงฟร็อลโลร่วงลงห้อยกับตัวปนาลีคาอยู่กลางอากาศ แต่เขาอ่อนแรงเกินกว่าจะยื้อยุดสิ่งใดไว้ได้ เขาคาอยู่อย่างนั้นชั่วระยะหนึ่ง ก่อนหล่นลงกระแทกกับหลังคาอาคารบ้านเรือนลดหลั่นกันไปรอบ ๆ วิหาร แล้วกระทบกับบาทวีถีกลางใจเมืองถึงแก่ความตาย

จากนั้น กาซีโมโดมุ่งตรงไปยังตะแลงแกงมงโฟกง (Gibbet of Montfaucon) โดยผ่านสำนักนางชีเทวธิดา (Filles-Dieu) ซึ่งเป็นคำเรียกหญิงคนชั่วที่ดัดสันดานแล้ว (reformed prostitute) และยังผ่านเรือนจำแซ็ง-ลาซาร์ (Prison Saint-Lazare) ซึ่งเป็นนิคมโรคเรื้อน (leper colony) ครั้นถึงตะแลงแกง เขาเปิดหลุมศพของนางแอสเมรัลดา แล้วนอนลงข้างเคียงกับศพนางเพื่อสมรสกับนาง กาซีโมโดกอดศพเจ้าสาวเขาไว้ และที่สุดก็ขาดใจตายเพราะความหิว

สองปีต่อมา ชาวปารีสช่วยกันตามหาศพนักโทษประหารรายหนึ่งซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 พระราชทานพระราชานุญาตให้ประกอบพิธีศพอย่างสมเกียรติได้ พวกเขามาถึงตะแลงแกงมงโฟกง และค้นพบโครงกระดูกสองโครง โครงหนึ่งเป็นหญิง มีรอยหักที่คออันเนื่องมาจากถูกเชือกรัด และอีกโครงหนึ่ง มีลักษณะช่วงหลังงุ้มงอผิดปรกติ โครงกระดูกที่สองนี้กอดรัดโครงแรกเอาไว้โดยแน่น เมื่อชาวเมืองพยายามแยกทั้งสองจากกัน โครงกระดูกที่สองก็แตกสลายเป็นผงธุลีไป

ตัวละคร

[แก้]
  • กาซีโมโด (Quasimodo) - เป็นคนทุพพลภาพและหลังค่อม เขาเป็นคนตีระฆังวิหารน็อทร์-ดาม และหน้าที่นี้ทำให้เขาหูหนวก เมื่อเกิด เขาถูกมารดาทิ้ง บาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล จึงอุปถัมภ์จนเติบใหญ่ ในเรื่องบรรยายว่าทั้งชีวิตเขามีความรู้สึกเพียงสองอย่าง คือ หน้าที่ลั่นระฆังอย่างหนึ่ง กับความรักและศรัทธาต่อบาทหลวงโกล็ดอีกอย่างหนึ่ง บาทหลวงโกล็ดให้เขาอยู่แต่ในวิหารเท่านั้น เพราะเกรงผู้คนจะตระหนกในรูปกายของเขา ทว่า เขาเคยแอบออกไปเตร็ดเตร่ในกรุงปารีสบ้างนาน ๆ ครั้ง ครั้งหนึ่งเขาไปในเทศกาลจำอวด และได้รับเลือกเป็น "ราชาของคนเขลา" โดยผู้คนให้เหตุผลว่า เพราะสภาพของเขา "อัปลักษณ์อย่างสมบูรณ์แบบ" (perfect hideousness) เขาได้ชื่อ "กาซีโมโด" มาเพราะวันที่มารดาทิ้งเขาไว้ในวิหารเป็นช่วงอัฐมวารปัสกา (Easter Octave) หรือที่สมัยนั้นเรียก "วันอาทิตย์ควอซีโมโด" (Quasimodo Sunday) อย่างไรก็ดี คำว่า "กาซีโมโด" (หรือ "ควอซีโมโด" ตามสำเนียงภาษาอังกฤษ) นั้น ตามรูปศัพท์แล้ว ยังสามารถหมายความว่า กึ่งมนุษย์ (half-formed) ได้ด้วย
  • แอสเมรัลดา (Esméralda) - เป็นหญิงชาวยิปซี รูปโฉมงดงาม ใสซื่อบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ และมีความอารี มีอาชีพร้องเล่นเต้นระบำเท้าเปล่า และเป็นจุดศูนย์กลางแห่งอารมณ์ความรู้สึกของบรรดามนุษย์ในเรื่อง รูปลักษณ์ของนางต้องตาต้องใจชาวปารีสทั้งเมือง และเพราะฉะนั้น นางจึงได้ผ่านประสบการณ์หลากประเภท ทั้งได้รับความนิยมชมชื่นฐานะที่เป็นจำอวด และถูกเกลียดชังเมื่อถูกกล่าวหาเป็นแม่มดทำให้เมืองวุ่นวาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 มีพระราชโองการให้ประหารชีวิตนาง เพราะทรงเข้าพระทัยว่า ผู้คนมาชุมนุมรายรอบวิหารด้วยต้องการสังหารนาง ในเรื่อง กาซีโมโด และบาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล หลงรักนาง แต่นางรักนายร้อยเอกเฟบุส นายทหารรูปงาม ผู้ซึ่งก็มีความรักให้นาง และนางก็เชื่อว่าจะปกป้องนางได้ นางเป็นตัวละครเดียวก็แสดงความเมตตาอาทรแก่เพื่อนมนุษย์ในฉากที่กาซีโมโดถูกทวนและผู้คนที่มาชมดูก็ร้องโห่เย้ยหยัน นางฝ่าฝูงชนเข้าไป และมอบน้ำดื่มให้แก่เขา นี้ยิ่งทำให้กาซีโมโดรักนางมากขึ้นเป็นทวีคูณ แม้ว่าอันที่จริงแล้ว นางจะรังเกียจในรูปลักษณ์ของกาซีโมโดมาก แม้กระทั่งไม่ยอมให้เขาให้จุมพิตมือของนางเลยก็ตาม
  • จาลี (Djali) - เป็นแพะที่นางแอสเมรัลดาเลี้ยงไว้แสดงกลต่าง ๆ กับนาง เมื่อแรก ชาวปารีสสนุกสนานไปกับการแสดงเหล่านี้ แต่ที่สุดเข้าใจไปว่าเป็นเวทมนตร์แม่มด
  • ปีแยร์ กริงกัวร์ (Pierre Gringoire) - เป็นกวีไส้แห้งที่เดินหลงไปเจอวังปาฏิหาริย์อันเป็นแหล่งซ่องสุมของชาวยิปซีโดยบังเอิญ เพื่อรักษาความลับเรื่องวัง พวกยิปซีให้เขาเลือก ระว่างถูกแขวนคอตาย หรือสมรสกับยิปซีคนหนึ่ง นางแอสเมรัลดาเมตตาเขา จึงยอมสละตัวมาวิวาห์กับเขา แม้ว่านางจะมิได้รักเขาและเห็นว่าเขาเป็นคนขลาดโฉดเขลา แต่เพราะนางรักร้อยเอกเฟบุสอยู่แล้ว นางจึงไม่ยอมให้เขาสัมผัสนางแม้แต่น้อย
  • โกล็ด ฟร็อลโล (Claude Frollo) - เป็นอัครพันธบริกรแห่งวิหารน็อทร์-ดาม เป็นคนรอบรู้ศิลปวิทยาการหลายแขนง ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศาสนา และอื่น ๆ ในยามค่ำคืน ทุกคนหลับใหล แต่เขาอ่านหนังสือหาความรู้จนลืมเวลาเสมอ ทำให้ร่างกายซูบโทรม ในเรื่องบรรยายว่า เขามีอายุสามสิบปี แต่ดูเหมือนคนอายุเกือบห้าสิบปี ประกอบกับที่เขามีอัธยาศัยเย็นชา เคร่งขรึม และชอบทดลองทางเล่นแร่แปรธาตุ ชาวปารีสจึงกลัวเขาเป็นอันมาก ผู้คนพากันเชื่อว่าเขาเป็นพ่อมดหมอผี ทำให้เขาถูกหมางเมินในสังคม เขาต้องอาศัยโดยลำพังในวิหาร ไร้ญาติขาดมิตร เว้นแต่กาซีโมโดที่เขาชุบเลี้ยง และเฌย็อง ฟร็อลโล น้องชายอันธพาลของเขา สำหรับบาทหลวงโกล็ดนั้น แม้ว่าอยู่ในสมณเพศ กลับหลงใหลนางแอสเมรัลดาอย่างบ้าคลั่ง เขาเกือบฆ่าร้อยเอกเฟบุสได้สำเร็จ เมื่อพบว่านางแอสเมรัลดารักร้อยเอกเฟบุส ในท้ายเรื่อง เขาถูกกาซีโมโดฆ่าตายโดยผลักตกจากหอระฆัง
  • เฌย็อง ฟร็อลโล (Jehan Frollo) - เป็นน้องชายของบาทหลวงฟร็อลโล เขาเป็นนักศึกษา นิสัยอันธพาล หัวรั้น และสร้างปัญหา เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินจากพี่ชาย เมื่อได้เงินแล้วเขาก็ซื้อสุรายาเมาเสพเสียหมด ในระหว่างที่มีการบุกวิหารน็อทร์-ดาม เฌย็องพยายามเข้าไปในวิหารโดยไต่บันไดลิง กาซีโมโดเห็นและเข้าใจผิดว่าเป็นผู้คนที่บุกเข้ามาจะทำร้ายนางแอสเมรัลดา จึงจับเขาทุ่มลงสู่เบื้องล่างถึงแก่ความตาย
  • เฟบุส เดอ ชาโตแป (Phoebus de Chateaupers) - เป็นหัวหน้ากองทหารเกาทัณฑ์หลวง เมื่อบาทหลวงฟร็อลโลสั่งให้กาซีโมโดไปลักพานางแอสเมรัลดามานั้น ร้อยเอกเฟบุสได้ช่วยเหลือนางไว้ นางจึงหลงรักเขา อันที่จริงเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่เขาปดนางเรื่องนี้ ขณะที่ทั้งคู่จุมพิตกัน บาทหลวงฟร็อลโลย่องเข้ามาจากข้างหลังแล้วแทงเขา นางแอสเมรัลดาตกใจจนสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นกลับพบว่าถูกจับและตั้งข้อหาพยายามฆ่าร้อยเอกเฟบุส ในตอนจบของนิยาย ร้อยเอกเฟบุสสมรสกับคู่หมั้นโฉมสะคราญแต่จิตใจร้ายกาจของเขา คือ นางเฟลอร์-เดอ-ลีส์ เดอ กงเดอโลรีเยร์ และต้องทรมานกับชีวิตสมรสเป็นอันมาก
  • เฟลอ-เดอ-ลี เดอ กงเดอโลรีเยร์ (Fleur-de-Lys de Gondelaurier) - เป็นหญิงสูงศักดิ์ ร่ำรวย และรูปโฉมงดงาม นางหมั้นหมายกับร้อยเอกเฟบุส แต่เขาสนใจนางแอสเมรัลดามากกว่า นางจึงเคียดแค้นและริษยานางแอสเมรัลดา และชักชวนเพื่อนฝูงไปรุมด่าตบตีนางแอสเมรัลดา นางไม่ยอมบอกร้อยเอกเฟบุสว่านางแอสเมรัลดากำลังจะถูกประหารชีวิต เขาโกรธนางเป็นอันมากและไม่โอภาปราศรัยด้วยอีก อย่างไรก็ดี ทั้งคู่สมรสกันในตอนจบของหนังสือ
  • ภคินีกูดูล (Sister Gudule) - เดิมชื่อ ปาแก็ต ลา ชองต์เฟลอรี (Paquette la Chantefleurie) นางเศร้าโศกจากการสูญเสียบุตรสาวไปตั้งแต่บุตรยังเป็นทารก นางเชื่อว่าพวกยิปซีฆ่าบุตรสาวของนางกินเป็นอาหาร จึงออกบวชเป็นนักพรตหญิงเพื่อไว้ทุกข์ให้บุตร อันที่จริงบุตรสาวของนางที่ถูกลักพาตัวไป คือ นางแอสเมรัลดา นางและบุตรได้พบและรู้ความจริงกันเมื่อตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลกำลังเรียกเจ้าพนักงานมาจับนางแอสเมรัลดา ภคินีกูดูลร้องขอความปรานีให้แก่นางและบุตรสาวที่เพิ่งได้พบกัน แต่ไร้ผล นางจึงฟาดศีรษะตนเองกับถนนปลิดชีพตนเอง
  • พระเจ้าหลุยที่ 11 (Louis XI) - เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส มีบทบาทเล็กน้อย พระองค์ทรงทราบข่าวการจลาจลที่วิหารน็อทร์-ดาม และมีพระราชโองการให้กองทัพเอาชีวิตพวกจลาจลเสีย ซึ่งรวมถึง นางแอสเมรัลดาที่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นแม่มดและเป็นต้นเรื่องด้วย
  • ตริสต็อง แลร์มีต (Tristan l'Hermite) - เป็นพระราชวัลลภของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 เขาบังคับบัญชากองทัพที่ได้รับพระราชโองการให้ไประงับเหตุจลาจล ณ วิหารน็อทร์-ดาม
  • อ็องรีเย กูแซ็ง (Henriet Cousin) - เป็นราชมัลผู้ประหารชีวิตนางแอสเมรัลดา
  • ฟลอรีย็อง บาร์เบอเดียน (Florian Barbedienne) - เป็นตุลาการผู้พิพากษาลงโทษกาซีโมโด ตุลาการผู้นี้หูตึงด้วย
  • ฌักส์ ชาร์โมลู (Jacques Charmolue) - เป็นเพื่อนของบาทหลวงฟร็อลโล และเป็นราชมัลด้วย เขาลวงให้นางแอสเมรัลดาสารภาพว่าพยายามฆ่าร้อยเอกเฟบุส
  • โกลแป็ง ทรูยีโฟ (Clopin Trouillefou) - เป็นหัวหน้าพวกยิปซี เขาระดมชาววังปาฏิหาริย์ไปช่วยเหลือนางแอสเมรัลดาที่วิหารน็อทร์-ดาม เขาถูกกองทัพพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ฆ่าที่วิหารนั้น
  • ปีเยร์รา ตอร์เตอรือ (Pierrat Torterue) - เป็นราชมัลผู้ลงทัณฑ์นางแอสเมรัลดาจนนางยอมรับสารภาพ

แนวคิดในเรื่อง

[แก้]

นิยายเรื่องนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า น็อทร์-ดามเดอปารี (Notre-Dame de Paris) อันเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของมหาวิหารน็อทร์-ดาม ข้อนี้บ่งบอกว่าวิหารนั้นเองเป็นองค์หลักของเรื่อง เป็นทั้งฉากหลักและเป็นจุดหลักของการดำเนินเรื่อง เหตุการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่วิหาร บนหอระฆัง หรือได้รับการชมดูจากตัวละครที่อยู่บนดาดฟ้าวิหาร นิยายนี้แสดงความเป็นไปในศิลปะกอทิก ซึ่งสถาปัตยกรรม กิเลสตัณหา และศาสนาล้วนแต่สุดโต่ง มีการนำเสนอลัทธินิยัตินิยม (determinism) หรือลัทธิความเชื่อที่ว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ทั้งหลาย ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ตลอดจนนำเสนอภาพการจลาจลและปฏิวัติ กับทั้งการต่อสู้ทางชนชั้น[1] การถือวรรณะดังกล่าวปรากฏในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกาซีโมโด นางแอสเมรัลดา และผู้ลากมากดีในหนังสือ อนึ่ง จะพบว่ามีแนวคิดเรื่องพลวัตทางเพศแทรกอยู่ในนิยายด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ว่า นางแอสเมรัลดาเป็นวัตถุทางเพศของตัวละครอื่น ๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

ในสมัยนั้น วิหารน็อทร์-ดามร้างการปฏิสังขรณ์นานมากและมีสภาพทรุดโทรม นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อูว์โกต้องการบันทึกเอาไว้ในนิยายของเขา เขาเป็นกังวลว่า ศิลปะกอธิกอย่างวิหารน็อทร์-ดามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงปารีสและแม้กระทั่งของยุโรปทั้งทวีปนั้นจะมลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ เขาสอดใส่แนวความคิดนี้ไปในบรรพ 2 หมวด 2 ตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลมองขึ้นไปยังวิหารน็อทร์-ดาม แล้วรำพันว่า "Ceci tuera cela" ("สิ่งนี้จักกลืนสิ่งนั้น", "This will kill that") นอกจากนี้ อูว์โกยังเขียนว่า "quiconque naissait poète se faisait architecte" ("ใครก็ตามที่เกิดมาเป็นกวีแล้วก็ย่อมผันไปเป็นสถาปนิกด้วยกันทั้งนั้น", "whoever is born a poet becomes an architect") เพื่อย้ำว่า ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตรวจพิจารณาและห้ามเผยแพร่ได้บ่อย สถาปัตยกรรมจักคงความโดดเด่นล้ำเลิศและสถิตอยู่ในเสรีภาพอันวิเศษหาใดเหมือน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Sparknotes.com". Sparknotes.com. สืบค้นเมื่อ 31 May 2011.
  2. "Online-literature.com". Online-literature.com. 26 January 2007. สืบค้นเมื่อ 31 May 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]