ข้ามไปเนื้อหา

ลิงอ้ายเงียะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิงอ้ายเงียะ
ลิงอ้ายเงียะตัวผู้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Cercopithecidae
สกุล: Macaca
สปีชีส์: M.  assamensis
สปีชีส์ย่อย:
  • M.  a. assamensis
  • M. a. pelops
ชื่อทวินาม
Macaca assamensis
(McClelland, 1840)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

ลิงอ้ายเงียะ, ลิงอัสสัม หรือ ลิงภูเขา[1] (อังกฤษ: Assam macaque; ชื่อวิทยาศาสตร์: Macaca assamensis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่อยู่ในอันดับวานร (ไพรเมต) มีรูปร่างอ้วนเทอะทะ แขนและขาสั้น ขนตามลำตัวมีสีเหลืองปนเทา บางตัวอาจมีสีเข้มมากจนดูคล้ายสีน้ำตาลดำ ส่วนหัวไหล่ ศีรษะ และแขนจะมีสีอ่อนกว่าสีขนบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ขนบริเวณหัวและหางมักมีสีเทา ขนที่ไหล่มีความยาวมากกว่า 8.5 เซนติเมตร ในบางฤดูกาลผิวหนังใต้ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมฟ้า มีความยาวลำตัวและหางรวม 51-63.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 20-38 เซนติเมตร น้ำหนัก 5-10 กิโลกรัม

มักอาศัยในป่าบนภูเขาสูงหรือตามที่ราบสูงซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-3,500 เมตร ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ซึ่งมีเรือนยอดไม้สูงจากพื้นดินประมาณ 10-15 เมตร จากการศึกษาพบว่ามักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ โดยฝูงหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 40- 60 ตัว ในระหว่างการหากินจะมีสมาชิกบางตัวทำหน้าที่ระวังภัยให้ฝูง โดยจะนั่งสังเกตการณ์อยู่บนต้นไม้ซึ่งสูงที่สุด และหากมีอันตรายเข้ามาใกล้จะส่งเสียงร้องเตือนให้หลบหนี โดยจะร้องเสียงดัง "ปิ้ว" ลิงอ้ายเงียะจัดเป็นลิงนิสัยดุร้าย สามารถกระดิกหางได้เหมือนสุนัข เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3-4 ปี ระยะตั้งท้องนาน 5-6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน กินอาหารประกอบไปด้วย ผลไม้ ยอดไม้อ่อน แมลง และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า เป็นต้น

มีการกระจายพันธุ์พบในเนปาล ภูฏาน สิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของพม่า ภาคเหนือของเวียดนาม ภาคตะวันตกและภาคอีสานของไทย แบ่งเป็นชนิดย่อย 2 ชนิดได้แก่ ลิงอ้ายเงียะตะวันออก (M. a. assamensis) และลิงอ้ายเงียะตะวันตก (M. a. pelops) ซึ่งแบ่งตามสองฝั่งของแม่น้ำพรหมบุตร

ลิงอ้ายเงียะในประเทศไทย ปัจจุบันนี้พบได้เพียง 9 แห่งเท่านั้น ได้แก่ วัดถ้ำปลา และวัดถ้ำผาแลนิภาราม จ.เชียงราย, บ้านป่าไม้ จ.เชียงใหม่, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล[2] จ.พิษณุโลก, อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน จ.กำแพงเพชร, เขตรักษาพันธ์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก, อุทยานแห่งชาติภูเขียว จ.ชัยภูมิ, เขื่อนเขาแหลม และ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ จ.กาญจนบุรี และยังมีข้อมูลว่าพบที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปางอีกด้วยซึ่งถือว่าน้อยมาก ปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macaca assamensis ที่วิกิสปีชีส์