ข้ามไปเนื้อหา

มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์

พิกัด: 47°37′25″N 122°20′44″W / 47.62361°N 122.34556°W / 47.62361; -122.34556
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์
Bill & Melinda Gates Foundation
ก่อตั้ง2543[1]
ผู้ก่อตั้ง
ประเภทมูลนิธิเอกชนที่ไม่ได้ทำการเอง
สถานะการเว้นภาษี: 501(c) (3)[2]
วัตถุประสงค์การศึกษา, การดูแลสุขภาพ, การยุติความยากจน
สํานักงานใหญ่ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
พื้นที่ให้บริการ
ทั่วโลก
วิธีการบริจาคและการให้เงินช่วยเหลือ
บุคลากรหลัก
บิล เกตส์-ผู้ร่วมจัดตั้งและประธานกรรมการร่วม
เมลินดา เกตส์-ผู้ร่วมจัดตั้งและประธานกรรมการร่วม
วิลเลียม เอ็ช เกตส์ ซีเนียร์-ประธานกรรมการร่วม
พญ.ซูซาน เดสมอนด์-เฮ็ลแมนน์-ประธานบริหาร
เงินบริจาค42,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557)[3]
ลูกจ้าง
1,223[3]
เว็บไซต์gatesfoundation.org
ชื่อในอดีต
William H. Gates Foundation
(1994-1999)

มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ หรือ มูลนิธิเกตส์ (อังกฤษ: Bill & Melinda Gates Foundation, Gates Foundation ตัวย่อ BMGF) เป็นมูลนิธิเอกชนหรือส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดตั้งโดยบิล เกตส์ และเมลินดา เกตส์ ในปี พ.ศ. 2543 และกล่าวกันว่าเป็นมูลนิธิส่วนบุคคลที่ดำเนินการอย่างโปร่งใสที่ใหญ่ที่สุดในโลก[4] จุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิก็คือ เพื่อปรับปรุงการบริหารสุขภาพและลดความยากจนทั่วโลก และในสหรัฐ เพื่อขยายโอกาสการศึกษาและการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ มูลนิธิมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน และควบคุมโดยผู้จัดการดูแลทรัพย์สิน 3 คนคือ บิล กับเมลินดา เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าหน้าที่หลักอื่น ๆ รวมทั้ง ประธานกรรมการร่วม วิลเลียม เอ็ช เกตส์ ซีเนียร์ (บิดาของนายเกตส์) และประธานบริหาร พญ. ซูซาน เดสมอนด์-เฮ็ลแมนน์

มูลนิธิมีกองทุน 42,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 (ประมาณ 1.389 ล้านล้านบาท)[5][3] ทั้งขนาดของมูลนิธิและการดำเนินงานที่ประยุกต์หลักข้อปฏิบัติทางธุรกิจทำให้มูลนิธิเป็นผู้นำในเรื่อง venture philanthropy (การกุศลโดยใช้เทคนิคเหมือนกับบริษัทเสี่ยงลงทุน)[6] และตัวมูลนิธิเองก็ให้ข้อสังเกตว่า การกุศลมีอิทธิพลที่จำกัดต่อการดำเนินงานของมูลนิธิ[7] ในปี 2558 นิตยสาร Business Insider จัดลำดับเกตส์ว่าเป็นผู้ให้เพื่อการกุศลที่ใจกว้างเป็นอันดับหนึ่งในโลก โดยมีวอร์เรน บัฟเฟตต์เป็นอันดับสอง[8] โดยวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 บิล เกตส์ ได้บริจาคทรัพย์ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 832,411 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ[9]

ประวัติที่น่าสนใจ

[แก้]
บิลและเมลินดาเกตส์ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552
อาคารด้านหลัง
ด้านหน้าของศูนย์ต้อนรับแขก
  • ในปี 2543 มูลนิธิวิลเลียมเอ็ชเกตส์ก็ได้จัดตั้งขึ้น[1][10] ในปีต่อ ๆ มา กองทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 บิลได้ประกาศแผนที่จะค่อย ๆ ลดงานที่ทำทุกวันที่บริษัทไมโครซอฟท์ลง เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2551[11] เพื่อให้เขาสามารถอุทิศเวลาทำงานให้มูลนิธิเพิ่มขึ้น
  • นิตยสาร ไทม์ ได้เลือกบิล และเมลินดา เกตส์ พร้อมกับนักดนตรีโบโน ว่าเป็นบุคคลประจำปี 2548 เนื่องจากงานการกุศลของพวกเขา และสำหรับบิล และเมลินดา งานที่กล่าวถึงหมายถึงงานของมูลนิธิ[12]
  • ในปี 2553 บิลและเมลินดาได้ช่วยสนับสนุนจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาของผู้ทำงานทางสุขภาพ (Commission on Education of Health Professionals) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "ปรับปรุงการศึกษาเพื่อเสริมกำลังระบบสาธารณสุขในโลกที่พึ่งพาอาศัยกัน"[13] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 บิลได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมและให้ปาฐกถาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่เขาได้ท้าทายนักศึกษาให้แก้ปัญหาที่ยาก ๆ ของโลกในอนาคตของพวกเขา และเกตส์ก็ได้อธิบายหลักปรัชญาและรายละเอียดของงานกุศลของเขาด้วย[14][15]
  • งานสำรวจผู้รับบริจาคปี 2554 พบว่า ผู้รับบริจาคจำนวนมากเชื่อว่า มูลนิธิไม่ได้แสดงเป้าหมายและกลยุทธ์ของมูลนิธิให้ชัดเจน และบางครั้งไม่เข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์ของผู้รับบริจาค, กระบวนการตัดสินใจให้เงินบริจาคของมูลนิธิไม่โปร่งใส, และการสื่อสารกับมูลนิธิควรจะทำให้สม่ำเสมอและตอบสนองได้ดีกว่าที่มี มูลนิธิได้ตอบสนองโดยปรับปรุงคำอธิบายของมูลนิธิให้ชัดเจนขึ้น โทรศัพท์ให้ "ปฐมนิเทศ" แก่ผู้รับเมื่ออนุมัติการบริจาค แจ้งผู้รับบริจาคว่าควรจะติดต่อใครเมื่อต้องการสื่อสารกับมูลนิธิ ให้ความเห็นป้อนกลับอย่างทันท่วงทีเมื่อได้รับรายงานจากผู้บริจาค และสร้างวิธีการเพื่อให้ผู้รับบริจาคสามารถให้ความเห็นป้อนกลับทั้งอย่างออกชื่อและอย่างนิรนามแก่มูลนิธิ[16] นอกจากนั้นแล้ว มูลนิธิยังได้เริ่มชุดพอดแคสต์เพื่อส่งเสริมการสื่อสาร[17]
  • ในปี 2556 ฮิลลารี คลินตันได้จัดให้มูลนิธิกับมูลนิธิบิลฮิลลารีและเชลซีคลินตัน (Bill, Hillary & Chelsea Clinton Foundation) ร่วมมือกันเพื่อรวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของหญิงและเด็กหญิงทั่วโลก โดยเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่การจัดงานประชุมโลกครั้งที่สี่ว่าด้วยหญิง (Fourth World Conference on Women) ปี 2538 ในนครปักกิ่ง[18][19] เป็นโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า "ไร้ขีดสูงสุด โปรเจ็กต์การมีส่วนร่วมอย่างเต็มพิกัด (No Ceilings: The Full Participation Project)"[18][19]

การบริจาคทรัพย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์

[แก้]

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2549 วอร์เรน บัฟเฟตต์ (ซึ่งตอนนั้นเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก โดยมีทรัพย์สินประเมินที่ 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยวันที่ 16 เมษายน 2551) สัญญาว่าจะให้หุ้นชั้น B ของบริษัท Berkshire Hathaway เป็นจำนวน 10 ล้านหุ้นแก่มูลนิธิ โดยให้ทุกปีกระจายเป็นหลายปี และบริจาคปีแรกที่จำนวน 500,000 หุ้น ซึ่งมีค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 47,234 ล้านบาท)[20] วอร์เรนได้ตั้งเงื่อนไขโดยที่การบริจาคจะไม่เพียงแค่เพิ่มกองทุนของมูลนิธิ แต่จะดำเนินการเป็นการบริจาคคู่ คือเพิ่มการบริจาคของมูลนิธิแต่ละปีเป็นทวีคูณ นอกจากนั้นแล้ว "การบริจาคของบัฟเฟตต์มากับเงื่อนไข 3 ข้อสำหรับมูลนิธิเกตส์ คือ บิลหรือเมลินดาเกตส์จะต้องมีชีวิตอยู่และมีบทบาทในการดำเนินงาน มูลนิธิต้องผ่านเกณฑ์เป็นองค์กรการกุศล และแต่ละปี มูลนิธิจะต้องบริจาคเงินเท่ากับจำนวนที่ได้จากการบริจาคของ Berkshire บวกกับการบริจาคเพิ่มเป็นจำนวนเท่ากับ 5% ของสินทรัพย์สุทธิของมูลนิธิ โดยที่บัฟเฟตต์ให้เวลามูลนิธิเป็นเวลา 2 ปีที่จะทำตามเงื่อนไขที่ 3"[21][22] มูลนิธิได้รับหุ้น 5% (500,000) จากที่สัญญาในเดือนกรกฎาคม 2549 และจะได้รับส่วนที่เหลือในเดือนกรกฎาคมในปีต่อ ๆ ไป (เป็นจำนวน 475,000 หุ้นในปี 2550, 451,250 ในปี 2551)[23][24] ในเดือนกรกฎาคม 2556 บัฟเฟตต์ประกาศการบริจาคหุ้นชั้น B ของบริษัทอีกส่วนหนึ่งมีค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 62,141 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ[25]

กิจกรรม

[แก้]

โปรแกรมและฐานข้อมูล

[แก้]

เพื่อจะดำรงสถานะเป็นมูลนิธิการกุศล มูลนิธิจะต้องให้เงินบริจาคเท่ากับ 5% ของสินทรัพย์ที่มีทุกปี[26] โดยเดือนเมษายน 2557 มูลนิธิได้ดำเนินงานแบ่งงานเป็น 4 โปรแกรมภายใต้การดูแลของประธานบริหาร พญ.ซูซาน เดสมอนด์-เฮ็ลแมนน์ ผู้มีหน้าที่ "กำหนดว่าเรื่องอะไรสำคัญ ตรวจตราผลที่ได้ และอำนวยความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่เป็นกุญแจสำคัญ"[27] โดยมีโปรแกรมคือ

  • แผนกพัฒนาการโลก
  • แผนกสุขภาพโลก
  • แผนกสหรัฐอเมริกา
  • แผนกนโยบายและการสนับสนุน (นโยบาย) โลก[28]

เว็บไซต์ของมูลนิธิมีฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับการบริจาค ซึ่งแสดงชื่อขององค์กรที่ได้รับเงินบริจาค จุดประสงค์ และจำนวนเงิน[29] ซึ่งสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี

นโยบายการให้เข้าถึงแบบเปิด

[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน 2557 มูลนิธิประกาศว่า จะเริ่มใช้นโยบายการเข้าถึงได้แบบเปิด (OA) สำหรับสิ่งตีพิมพ์และข้อมูลวิทยาศาสตร์ "เพื่อให้สามารถเข้าถึงและร่วมใช้งานวิจัยทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันที่ได้ตีพิมพ์และได้เงินทุนจากมูลนิธิ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นมูลฐานของผลงาน"[30] มีผู้เรียกข้อกำหนดในนโยบายนี้ว่า เข้มงวดกวดขันที่สุดในบรรดานโยบาย OA ที่คล้ายกันในปัจจุบัน[31] โดยวันที่ 1 มกราคม 2558 นโยบายนี้มีผลต่อข้อตกลงการให้บริจาคใหม่ทั้งหมด[32]

การเงิน

[แก้]

มูลนิธิอธิบายบนเว็บไซต์ว่า ผู้จัดการดูแลทรัพย์สินได้จัดระเบียบองค์กรเป็นสองนิติบุคคลคือ มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ และทรัสต์มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation Trust) ส่วนที่เป็นมูลนิธิมีสำนักงานในซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน "ที่พุ่งความสนใจไปที่การปรับปรุงสุขภาพและลดความยากจนแบบรุนแรง" โดยมีผู้จัดการดูแลทรัพย์สินสามคนคือ บิล กับเมลินดา เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ส่วนที่เป็นทรัสต์ทำหน้าที่บริหารจัดการ "สินทรัพย์การลงทุนและการโอนรายได้ไปยังมูลนิธิตามความจำเป็นเพื่อให้ถึงเป้าหมายการกุศล" เป็นส่วนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเดิมของบิล และเมลินดา เกตส์ โดยมีบิล และเมลินดา เป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สิน และรับทรัพย์บริจาคของบัฟเฟตต์[33]

มูลนิธิจะโพสต์งบการเงินที่ตรวจสอบแล้ว และฟอร์มภาษีอื่น ๆ บนเว็บไซต์เมื่อมี โดยสิ้นปี 2555 มูลนิธิมีเงินสดรวมกันเป็น 4,998,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลดจาก 10,810,000 ดอลลาร์ที่สิ้นปี 2554 ส่วนสินทรัพย์สุทธิที่สิ้นปี 2555 มีมูลค่า 31,950,613,000 ดอลลาร์ และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 37,176,777,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,216,237 ล้านบาท)[34]

การลงทุนของทรัสต์

[แก้]

ในวันที่ 30 กันยายน 2561 ตามเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ มูลนิธิมีการลงทุนในหุ้นบริษัทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:[35]

บริษัท จำนวนหุ้น มูลค่า
(หน่วย: พันเหรียญสหรัฐ)
หมายเหตุ
Arcos Dorados Holdings 3,060,500 $19,128  เป็นผู้ถือแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
AutoNation 1,898,717 $78,892  บริษัทแฟรนไชส์ขายรถที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ
เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ Class B 62,078,974 $13,291,729  หุ้นชั้น B ในบริษัทของวอร์เรน บัฟเฟตต์
Canadian National Railway 17,126,874 $1,537,993  บริษัทรถไฟใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดา
Caterpillar Inc. 11,260,857 $1,717,168  บริษัทผลิตอุปกรณ์การก่อสร้างเป็นต้น ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม
FEMSA 6,214,719 $380,589  บริษัทบรรจุขวดเครื่องดื่ม และร้านขายของสะดวกซื้อ
Crown Castle 5,332,900 $593,712  บริษัทผลิตอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์มือถือ
Ecolab 4,366,426 $684,568
เฟดเอกซ์ 3,024,999 $728,390
Televisa 16,879,104 $299,435  บริษัทสื่อมวลชนในประเทศเม็กซิโก
Liberty Global Class A 2,119,515 $61,318  บริษัทโทรคมนาคมและสื่อทางโทรทัศน์
Liberty Global Class C 3,639,349 $102,484
Liberty Global Latin America Class A 370,424 $7,720
Liberty Global Latin America Class C 636,044 $13,122
ไมโครซอฟท์ 24,000,000 $2,744,880
United Parcel Service 4,525,329 $528,332
วอลมาร์ต 11,603,000 $1,089,638  บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Walgreens Boots Alliance 3,475,398 $253,357
Waste Management 18,633,672 $1,683,739  บริษัทบริหารจัดการขยะใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐ

มูลนิธิลงทุนสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้บริจาค เพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวคือให้ได้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ให้มากที่สุด และดังนั้น จึงมีการลงทุนในบริษัทที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่มูลนิธิพยายามจะช่วยลดระดับความยากจน[36][37] รวมทั้งบริษัทที่สร้างมลภาวะอย่างหนัก และบริษัทผลิตยาที่ไม่ขายยาในประเทศกำลังพัฒนา[38] ดังนั้น โดยเป็นการตอบสนองต่อสื่อ มูลนิธิประกาศในปี 2550 ว่าจะทบทวนการลงทุนเพื่อประเมินระดับความรับผิดชอบทางสังคม[39] แล้วต่อมาจึงยกเลิกการทบทวน และยืนหยัดในนโยบายที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด แล้วใช้สิทธิในการโหวตของผู้ถือหุ้นเพื่อโน้มน้าวข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของบริษัทที่ลงทุนด้วย[40][41]

แผนกพัฒนาการโลก

[แก้]

นพ. คริสโตเฟอร์ อีเลียส เป็นหัวหน้าแผนกพัฒนาการโลก (Global development division) ที่ต่อสู้กับความยากจนแบบรุนแรงในโลกโดยให้เงินช่วยเหลือ[42]

ในเดือนมีนาคม 2549 มูลนิธิประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 195 ล้านบาท) แก่ International Justice Mission (IJM) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี.เพื่อประโยชน์ในการต่อต้านการค้าทางเพศ (sex trafficking) ซึ่งจะช่วยให้ IJM "สร้างแบบตัวอย่างในการต่อสู้การค้าและความเป็นทาสทางเพศ" โดยปฏิบัติการที่รวมการเปิดสำนักงานในเขตที่มีอัตราการค้าทางเพศสูงตามข้อมูลงานวิจัย โดยสำนักงานจะเปิดเป็นเวลา 3 ปี และมีจุดประสงค์เพื่อ "ทำการสืบสวนแบบลับ ฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยเหลือเหยื่อให้พ้นภัย ช่วยเหลือเหยื่อหลังจากรอดภัย และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ทำผิด"[43]

IJM ได้ใช้เงินช่วยเหลือก่อตั้งโปรเจ็กต์โคมไฟ (Project Lantern) และตั้งสำนักงานขึ้นที่เมืองเซบู (Cebu) ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2553 IJM ตีพิมพ์ผลงานของโปรเจ็กต์โดยอ้างว่า โปรเจ็กต์ได้ "เพิ่มการตรวจจับคดีการค้าทางเพศ เพิ่มความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้การฝึกผ่านโปรเจ็กต์ในการไขและปิดคดี และเพิ่มบริการ เช่น ที่หลบภัย การให้คำปรึกษา และการฝึกอาชีพ ให้กับผู้รอดชีวิตจากการค้าทางเพศ" ในช่วงที่ตีพิมพ์รายงาน IJM กำลังตรวจสอบโอกาสที่จะลอกแบบปฏิบัติงานเพื่อทำในเขตอื่น ๆ[44]

บริการทางการเงินสำหรับคนจน

[แก้]
  • Alliance for Financial Inclusion (AFI) - บริจาค 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,231 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้สร้างบัญชีออมทรัพย์ การประกัน และบริการทางการเงินอื่น ๆ เพื่อคนที่ที่เลี้ยงชีพมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ประมาณ 70 บาทต่อวัน)[45]
  • Financial Access Initiative (FAI) - บริจาค 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 176 ล้านบาท) เพื่อทำงานวิจัยในสนามและหาคำตอบต่อคำถามสำคัญเกี่ยวกับ การเข้าถึง microfinance (บริการการเงินสำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถใช้บริการของธนาคารโดยปกติ) และบริการการเงินอื่น ๆ ในประเทศยากจนทั่วโลก[46]
  • Pro Mujer - บริจาคเงินช่วยเหลือมูลค่า 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 109 ล้านบาท) กระจายจ่ายเป็นเวลา 5 ปี ให้กับ Pro Mujer ซึ่งเป็นเครือข่าย microfinance ในลาตินอเมริกาที่รวมการบริการทางการเงินและการดูแลสุขภาพให้กับแม่ค้าที่ยากจน เพื่อค้นหาช่องทางใหม่ ๆ สำหรับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในตลาด microfinance ในลาตินอเมริกา[47]
  • Grameen Foundation - บริจาคเงินจำนวน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52.75 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ Grameen Foundation (ซึ่งเป็นธนาคาร microfinance ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าสู่เป้าหมายในการให้เงินกู้ขนาดย่อย (microloan) ต่อครอบครัวอีก 5 ล้านครอบครัว แล้วช่วยครอบครัวเหล่านั้นครึ่งหนึ่งให้พ้นจากความยากจนภายใน 5 ปี[48]

การพัฒนาทางเกษตร

[แก้]
  • International Rice Research Institute - ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 และตุลาคม 2553 มูลนิธิได้บริจาคเงิน 19.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 662 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มการผลิตข้าว โดยมูลนิธิอ้างว่า "เพื่อที่จะให้ทันความต้องการทางตลาดทั่วโลก การผลิตข้าวต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ภายใน 2 ทศวรรษ"[49]
  • Alliance for a Green Revolution in Africa - มูลนิธิได้ร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์การเกษตรและผลิตภาพของไร่นาขนาดเล็กในแอฟริกา และต่อยอดปฏิวัติสีเขียว (Green Revolution) ที่มูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ได้ช่วยกระตุ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 จนถึง 1960 โดยมูลนิธิได้บริจาคเงินเบื้องต้นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,372 ล้านบาท) และมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ได้บริจาค 50 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,686 ล้านบาท) แต่ว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวหาว่า มูลนิธิชอบใจที่จะให้เงินช่วยเหลือที่ให้ผลประโยชน์กับบริษัทเกษตรข้ามชาติขนาดยักษ์ เช่น มอนซานโต้[50] โดยไม่พิจารณาเห็นความจำเป็นอื่น ๆ ในแอฟริกา[51]

น้ำ ระบบสุขาภิบาล และอนามัย

[แก้]
ตัวอย่างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส้วมแบบ Nano Membrane ที่ใช้โดยไม่เชื่อมกับระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล แต่เล็กและดูดีพอที่จะใส่ไว้ในบ้านได้ทั้งชิ้น นี่เป็นต้นแบบที่แสดงในงานแสดงในเมืองเดลีที่ยังทำงานไม่ได้จริง

ก่อนปี 2554 มูลนิธิได้สนับสนุนโปรแกรมเกี่ยวกับน้ำ ระบบสุขาภิบาล (sanitation) และอนามัย (hygiene) ในประเทศกำลังพัฒนา แต่ว่าเมื่อกลางปี 2554 มูลนิธิได้เปลี่ยนไปเพ่งความสนใจที่ "ระบบสุขาภิบาล" (โดยสนใจเรื่องน้ำ และอนามัย ลดลง) โดยเฉพาะในเขตแอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชียใต้ เพราะว่า ระบบสุขาภิบาลที่พอใช้ได้ (improved sanitation) มีน้อยที่สุดในเขตเหล่านั้น[52] และจุดเพ่งความสนใจตั้งแต่นั้นมาก็คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบสุขาภิบาล การสร้างต้นแบบที่ใช้ได้มีขนาดจริง และนโยบายและการสนับสนุนนโยบาย[52] ในช่วงกลางปี 2554 มูลนิธิได้แสดงว่า ได้สัญญาเพื่อให้ทุนเป็นจำนวน 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,078 ล้านบาท) สำหรับประเด็นในเรื่องน้ำ ระบบสุขาภิบาล และอนามัยภายใน 5 ปีที่ผ่านมา คือเริ่มตั้งแต่ 2549[52] และในช่วงระยะปี 2551 จนถึง 2558 เงินช่วยเหลือที่ให้ในเรื่องน้ำ ระบบสุขาภิบาล และอนามัยรวมกันทั้งหมดเป็นจำนวน 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 21,069 ล้านบาท) ตามข้อมูลจากฐานข้อมูลการบริจาคของมูลนิธิที่เข้าถึงได้อย่างเสรี[29]

ตัวอย่างของการพัฒนาส้วมแบบโลว์เทคที่มีการให้ทุน เป็นแบบแยกส่วนปัสสาวะ (urine-diverting dry toilet) ที่เรียกว่า "Earth Auger toilet" จากประเทศเอกวาดอร์/สหรัฐ

ระบบสุขาภิบาลในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเรื่องจำเป็น แต่ว่าไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญตามคำของ UNICEF และ WHO[53] คือ มีคนหนึ่งพันล้านคนในโลกที่ไม่มีส้วมใช้โดยประการทั้งปวง และยังถ่ายหนักลงในร่องน้ำ หลังพุ่มไม้ หรือในแหล่งน้ำ ที่ทั้งไม่งดงามทั้งไม่เป็นส่วนตัว และเสี่ยงต่อสาธารณสุข[54]: 6  ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีคนถ่ายในที่แจ้งมากที่สุดในโลก คือประมาณ 600 ล้านคน[54]: 19  และก็เป็นประเทศที่มูลนิธิได้หันมาสนใจมากที่สุดในเรื่องสุขาภิบาลซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่งาน "Reinvent the Toilet Fair" ในเดือนมีนาคม 2557 ณ กรุงเดลี[55]

นวัตกรรมสุขาภิบาล

[แก้]

ในปี 2554 มูลนิธิเริ่มโปรแกรมที่เรียกว่า "Reinvent the Toilet Challenge" (ทุนท้าทายให้ประดิษฐ์ส้วมใหม่) เพื่อโปรโหมตการพัฒนานวัตกรรมส้วมเพื่อประโยชน์ต่อคน 2,500 ล้านคนที่ไม่มีสุขาภิบาลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล[56][57] ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างสำคัญ[58][59] โดยมีโปรแกรมเสริมที่เรียกว่า "Grand Challenges Explorations" ที่ให้เงินสนับสนุนในปี 2554–2558 เป็นจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,119,000 บาท) แต่ละรายในการแข่งขันรอบแรก[57] แต่การให้เงินทุนในโปรแกรมทั้งสองยกเว้นโปรเจ็กต์ที่พึ่งระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลส่วนกลาง ที่ใช้ไม่ได้ในประเทศกำลังพัฒนา[60]

เซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้แบคทีเรีย (Microbial fuel cell) ที่เปลี่ยนปัสสาวะเป็นพลังงานไฟฟ้า (งานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ สหราชอาณาจักร)

ตั้งแต่เริ่มตั้งทุนท้าทายให้ประดิษฐ์ส้วมใหม่ มีทีมนักวิจัยมากกว่า 12 คน โดยมากที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และแอฟริกาใต้ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการบำบัดสิ่งปฏิกูลที่เป็นนวัตกรรมเพื่อให้คนยากจนในเมืองได้ใช้ เงินที่ช่วยเหลือจะให้ประมาณ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐในระยะการดำเนินงานเบื้องต้น และตามด้วย 1–3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะที่สอง และทีมต่าง ๆ ตรวจสอบการแยกทรัพยากรที่เวียนใช้ได้จากของขับถ่าย หรือเทคโนโลยีการแปลงของเสีย (excreta) หรือเทคโนโลยีการแปลงกากอุจจาระ (จากถังอุจจาระ)[61] โปรแกรมนี้พุ่งความสนใจไปที่การประดิษฐ์ส้วมชักโครกใหม่ เป้าหมายก็คือการสร้างส้วมที่ไม่เพียงแต่กำจัดเชื้อโรคจากของเสียมนุษย์เท่านั้น แต่สามารถแยกเอาพลังงาน หรือน้ำสะอาด และสารอาหารได้ด้วย ซึ่งต้องสามารถใช้ได้โดยไม่เชื่อมกับระบบต่าง ๆ จากเทศบาลเช่นการประปา ระบบระบายสิ่งปฏิกูล หรือกับการไฟฟ้า และต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 0.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (น้อยกว่าประมาณ 2 บาท)[60] ส่วนส้วมไฮเทคเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับของเสียมนุษย์ก็กำลังได้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ว่าการเพ่งความสนใจไปที่การแก้ปัญหาโดยเทคโนโลยีมีคนไม่เห็นด้วยมาก[58] แต่ว่า ส้วมแบบโลว์เทคอาจเป็นอะไรที่ใช้ได้ดีในประเทศที่ยากจน และงานวิจัยที่มูลนิธิให้ทุนก็กำลังดำเนินการทำส้วมเช่นนี้[62] ทุนท้าทายให้ประดิษฐ์ส้วมใหม่เป็นการวิจัยและพัฒนาการระยะยาวเพื่อจะสร้างส้วมที่ถูกอนามัย และแยกอยู่ได้ต่างหาก ซึ่งเสริมด้วยอีกโปรแกรมหนึ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดอุจจาระจากส้วมหลุม (ที่มูลนิธิเรียกว่า “Omni-Ingestor”)[63]) และกระบวนการแปลงกากตะกอนอุจจาระ (ที่มูลนิธิเรียกว่า Omni-Processor) ซึ่งมีเป้าหมายในการแปลงของเสียมนุษย์ (เช่นกากตะกอนอุจจาระ) ให้กลายเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น พลังงานหรือสารอาหารในดิน โดยมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจและรายได้สำหรับคนในพื้นที่[64]

ตัวอย่าง

[แก้]
  • มีโปรเจ็กต์สุขาภิบาลประมาณ 200 โปรเจ็กต์ในประเทศต่าง ๆ ที่มีขนาดต่าง ๆ กัน บางโปรเจ็กต์เพ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยี บางโปรเจ็กต์เพ่งความสนใจไปที่การพัฒนาการตลาด หรือนโยบายและการสนับสนุนนโยบายที่ได้รับทุนจากมูลนิธิตั้งแต่ปี 2551[65]
  • มหาวิทยาลัย KwaZulu-Natal ในเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ได้เงินบริจาค 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52 ล้านบาท) ในปี 2557 เพื่อเป็นศูนย์กลางของนักวิจัยเกี่ยวกับสุขาภิบาลและผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์[36][66]
  • ตัวอย่างหนึ่งของ ระบบ Omni-Processor ก็คือการแปลงกากตะกอนอุจจาระที่ใช้ระบบการเผาไหม้เพื่อแปลงเป็นพลังงานและน้ำดื่ม การพัฒนาต้นแบบโดยบริษัทสหรัฐ Janicki Bioenergy ได้ดึงความสนใจจากสื่อให้สนใจในเรื่องวิกฤติการณ์ทางสุขาภิบาลและงานของมูลนิธิ หลังจากที่บิล เกตส์ได้ดื่มน้ำที่แปลงโดยระบบ[67]
  • ตัวอย่างของทุนท้าทายให้ประดิษฐ์ส้วมใหม่รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ได้รับทุน 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 58.08 ล้านบาท) เพื่อสร้างต้นแบบส้วมที่ใช้ความร้อนพระอาทิตย์ในการแปลงอุจจาระให้เป็นถ่านชีวภาพ (biochar) ที่ใช้ปรับปรุงดินได้[68][69] และมูลนิธิได้ให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรไม่หวังผลกำไร RTI International ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อพัฒนาส้วมที่ใช้วิธีการฆ่าเชื้อโดยเคมีไฟฟ้า และการเผาของเสียแบบแข็ง[70][71]

งานริเริ่มพิเศษอื่น ๆ

[แก้]

โครงการริเริ่มพิเศษของมูลนิธิรวมทั้งทุนตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ และทุนเรียนรู้ที่ใช้ทดลองในการบริจาคในเรื่องใหม่ ๆ ตัวอย่างรวมทั้ง

  • สำหรับแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 - มูลนิธิได้บริจาคทรัพย์รวมเป็น 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 120.96 ล้านบาท) ไปยังองค์กรการกุศลต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ รวมทั้ง CARE international,[72] International Rescue Committee,[73] Mercy Corps,[74] Save the Children,[75] และองค์กรศุภนิมิตสากล (World Vision International)[76]
  • สำหรับแผ่นดินไหวในกัศมีร์ปี พ.ศ. 2548 มูลนิธิได้บริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,153,048 ล้านบาท)[77]
  • ในปี 2557 มูลนิธิได้บริจาคเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,627 ล้านบาท) ให้กับหน่วยต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และองค์กรอื่น ๆ ที่ทำงานสู้กับโรคไวรัสอีโบลาที่ถึงตายได้ในแอฟริกาตะวันตก[78]

แผนกสุขภาพโลก

[แก้]

สำหรับโปรแกรมต้านโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย คือ The Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria มูลนิธิได้บริจาคเงินเกินกว่า 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 232,340 ล้านบาท) รวมทั้งกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 45,762 ล้านบาท) โดยปี 2555 สำหรับโรคมาลาเรียเพียงโรคเดียว เป็นการเพิ่มทุนงานวิจัยโรคมาลาเรียอย่างมหาศาล[79][80] ก่อนที่มูลนิธิจะเริ่มงานเกี่ยวกับโรค บริษัทผลิตยาโดยมากได้เลิกล้มความพยายามจะผลิตยาเพื่อโรคไปแล้ว และมูลนิธิเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดเพื่องานวิจัยเกี่ยวกับโรคของคนจน[80] โดยอาศัยโปรแกรมฉีดวัคซีนที่การบริจาคของมูลนิธิมีส่วนช่วย อัตราการตายจากโรคหัดในแอฟริกาได้ลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2543[81] มูลนิธิได้บริจาคเงินเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย แล้วช่วยป้องกันเด็กเป็นล้าน ๆ จากความตายเนื่องจากโรคที่ป้องกันได้[81]

แต่ว่า การสืบสวนปี 2550 ของหนังสือพิมพ์ The Los Angeles Times พบว่า[81] มีผลที่ไม่ได้ตั้งใจจากการบริจาคของมูลนิธิ คือ

  1. เขตแอฟริกาใต้สะฮารามีปัญหาการขาดแคลนแพทย์โดยทั่วไปอยู่แล้วก่อนที่มูลนิธิจะเริ่มปฏิบัติการในแอฟริกา แต่ว่า "โดยการบริจาคเพื่อต่อสู้โรคนักฆ่าที่รู้จักกันดีเช่นเอดส์ องค์กรที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิ ได้เพิ่มความต้องการต่อแพทย์ผู้รักษาที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษที่มีรายได้สูงกว่า เป็นการดึงบุคลากรไปจากการดูแลรักษาพื้นฐานซึ่งเพิ่มปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และดึงบุคลากรอื่น ๆ ไปจากการดูแลรักษาเด็กและคนป่วยโรคที่ถึงตายและสามัญอื่น ๆ"
  2. "โปรแกรมฉีดวัคซีนที่ได้ทุนจากเกตส์ได้สั่งแพทย์พยาบาลให้ไม่สนใจ แม้แต่ห้ามคนไข้ไม่ให้กล่าวถึง โรคอื่น ๆ ที่การฉีดวัคซีนไม่ได้ช่วย"[81]

มูลนิธิได้โต้ว่า

  1. รัฐบาลแอฟริกาควรจะใช้งบประมาณในเรื่องสาธารณสุขมากกว่าสงคราม
  2. มูลนิธิได้บริจาคเงินอย่างน้อย 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,464 ล้านบาท) เพื่อช่วยปรับปรุงระบบอาหารและเกษตรกรรมในแอฟริกา นอกเหนือไปจากโครงการริเริ่มเกี่ยวกับโรค
  3. มูลนิธิกำลังศึกษาวิธีที่จะปรับปรุงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพในแอฟริกา[81]

ผู้ไม่เห็นด้วยทั้งภายในภายนอกมูลนิธิอ้างว่า มีการโอนอ่อนตามความคิดเห็นส่วนตัวของบิล เกตส์มากเกินไป คือไม่มีการอภิปรายสืบสวนภายในมูลนิธิมากพอ และมีปัญหาเกี่ยวกับ "group think" ซึ่งความต้องการความกลมเกลียวกันในกลุ่มมีผลเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดีอย่างแพร่หลาย[80][82] นอกจากนั้นแล้ว คนไม่เห็นด้วยยังบ่นว่า การบริจาคของมูลนิธิมักจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ทางสังคมและอุดมคติที่คล้าย ๆ กัน มากกว่ากระบวนการทบทวนโดยบุคคลภายนอกที่ทำอย่างเป็นทางการ หรือว่ามากกว่าความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ[82] และว่า วิธีการของเกตส์เกี่ยวกับสุขภาพและเกษตรกรรมโลก สนับสนุนผลประโยชน์ของบริษัทผลิตยาหรือบริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ (ที่เกตส์เป็นเจ้าของหุ้น) มากกว่าประโยชน์ของคนในประเทศกำลังพัฒนา[83][84][85][86] การบริจาคเป็นจำนวนสำคัญอื่น ๆ ของแผนกนี้ รวมทั้ง

  • การกำจัดโรคโปลิโอ - ในปี 2549 มูลนิธิบริจาคทุน 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,266 ล้านบาท) เพื่อพยายามกำจัดโรคโปลีโอ[87]
  • กาวี (GAVI Alliance) - มูลนิธิบริจาคเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,439 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กยากจน[88][89] โดยเดือนมกราคม 2556 มูลนิธิได้บริจาคเงินให้องค์กรนี้ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 44,797 ล้านบาท)[90]
  • โปรแกรม Children's Vaccine Program - ได้เงินบริจาค 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,075 ล้านบาท) จากมูลนิธิ เพื่อช่วยการฉีดวัคซีนกันโรคสมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese encephalitis) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546[91]
  • มหาวิทยาลัยวอชิงตันคณะสุขภาพโลก มูลนิธิได้บริจาคเงินประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,056 ล้านบาท) เพื่อตั้งคณะสุขภาพโลกที่มหาวิทยาลัยในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นการบริจาคที่สนับสนุนเป้าหมาย 3 อย่างของมูลนิธิคือ การศึกษา สุขภาพของคนในเขต Pacific Northwest (ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านเหนือของสหรัฐ) และสุขภาพโลก[92]
  • งานวิจัยเรื่องเอชไอวี - มูลนิธิได้บริจาคเงินรวมกัน 287 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,101 ล้านบาท) ให้กับนักวิจัยในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โดยแบ่งให้กับทีมวิจัย 16 ทีมทั่วโลก โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องแชร์สิ่งที่ค้นพบระหว่างทีม[93]
  • Aeras Global TB Vaccine Foundation - มูลนิธิได้ให้เงินกว่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,855 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาวัคซีนที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันวัณโรคเพื่อให้ใช้ในประเทศที่มีอัตราโรคสูง[94][95]
  • การตรวจสอบวัณโรคแบบไฮเทคที่มีค่าใช้จ่ายน้อยลง - ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 มูลนิธิร่วมกับโครงการแผนฉุกเฉินเพื่อบรรเทาโรคเอดส์ของประธานาธิบดีสหรัฐ (United States President's Emergency Plan for AIDS Relief), สำนักงานพัฒนาการระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development), และ UNITAID (ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือการซื้อยาของสหประชาชาติ) ประกาศว่า ได้ต่อรองเพื่อลดค่าใช้จ่ายการตรวจสอบวัณโรคแบบไฮเทค (Cepheid's Xpert MTB/RIF ที่ใช้กับระบบ GeneXpert) จาก 16.86 ดอลลาร์สหรัฐ ให้เหลือเพียง 9.98 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 351 บาท)[96] นี่เป็นวิธีการตรวจโรคที่สามารถใช้แทนการส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เริ่มทำในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 (เกินกว่า 100 ปีก่อน) เพราะว่าการส่องกล้องบ่อยครั้งไม่แสดงการติดโรคในคนไข้ที่มีเชื้อเอชไอวีร่วม เทียบกับระบบ GeneXpert ที่สามารถแสดงการติดวัณโรคแม้ในคนไข้เอชไอวี นอกจากนั้นแล้ว ระบบยังสามารถแสดงว่าสายพันธุ์ของเชื้อ ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ rifampicin หรือไม่ ซึ่งเป็นตัวชี้บอกที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า แสดงการดื้อยาหลายขนานของสายพันธุ์[97][98]
  • งานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis ตัวย่อ VL) - มูลนิธิได้ให้เงินทุนกับศูนย์การศึกษาโรคติดต่อเขตร้อนของมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 171.61 ล้านบาท) ในปี 2552 สำหรับโรคติดเชื้อลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน ซึ่งเป็นโรคปรสิต (จากโพรโทซัว) ที่กำลังแพร่หลายเพิ่มขึ้นในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งมักจะเกิดสัมพันธ์กับโรคเอดส์ อันเป็นโรคและเหตุการตายที่สำคัญของผู้ใหญ่ โปรเจ็กต์นี้ที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอาดดิสอาบาบาในเอธิโอเปีย รวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนในวงจรการแพร่เชื้อ แล้วหาวิธีควบคุมโรค[99] ในปี 2548 มูลนิธิได้ให้ทุน 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,204 ล้านบาท) ต่อ The Institute for OneWorld Health ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนายาโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนงานขององค์กรเกี่ยวกับโรค VL ในชนบทของประเทศอินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล[100] โดยเดือนกันยายน 2549 องค์กรได้รับอนุมัติจากองค์การยาของอินเดีย (Drug-Controller General of India) เพื่อยาฉีดมีชื่อว่า Paromomycin Intramuscular Injection ที่สามารถรักษาโรคได้ภายใน 21 วัน[101] ในปี 2553 ผู้อำนวยการประจำเขตขององค์กรอธิบายว่า มูลนิธิเป็นผู้ให้ทุนโดยมากสำหรับการพัฒนายานี้[102]
  • ถุงยางอนามัยรุ่นต่อไป (Next-Generation Condom) มูลนิธิได้ให้เงินทุน 100,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 31,64,921 บาท) แก่ผู้ที่สมัคร 11 รายในเดือนพฤศจิกายน 2556 เพื่อพัฒนาถุงยางอนามัยที่ดีขึ้น คือถุงยางที่ "รักษาหรือเพิ่มความสุขอย่างสำคัญ เพื่อเพิ่มความนิยมและการใช้อย่างเป็นประจำ"[103] และจะมีเงินทุนอีก 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35.2 ล้านบาท) เพื่อให้กับโปรเจ็กต์ที่ประสบผลสำเร็จ[104]
  • โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected tropical diseases ตัวย่อ NTD) - พร้อมกับ WHO รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารโลก มูลนิธิได้รับรองปฏิญญาลอนดอนว่าด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (London Declaration on Neglected Tropical Diseases) ที่จะ "ทำลาย กำจัด และควบคุมอย่างเข้มงวดขึ้นซึ่งโรคจำเพาะ 17 อย่างโดยปี 2558 และ 2563" ที่งานประชุมวันที่ 30 มกราคม 2555 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[105] บิลเองเป็นคนวิ่งเต้นจัดงานประชุมโดยนำหัวหน้าบริษัทขายยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก 13 บริษัทมาประชุมกัน และมูลนิธิก็ได้กำหนดงบประมาณ 363 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11,318 ล้านบาท) โดยจ่ายเป็นเวลา 5 ปี สำหรับปฏิญญา[106] ในวันที่ 3 เมษายน 2557 ที่เป็นวันครบรอบ 2 ปีของปฏิญญา บิลได้ไปงานประชุมที่นครปารีส ซึ่งผู้ร่วมงานได้ทบทวนความก้าวหน้าต่อโรคเขตร้อนที่ละเลย 10 อย่าง แล้วมูลนิธิก็สัญญางบประมาณอีก 50 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,624 ล้านบาท) พร้อมกับเงินบริจาคอีก 50 ล้านจากมูลนิธิทุนการลงทุนกับเด็ก และอีก 120 ล้านจากธนาคารโลก[107]

แผนกสหรัฐอเมริกา

[แก้]

มูลนิธิได้ให้เงินบริจาคในหัวข้อดังต่อไปนี้

การยุติการบริจาคเพื่อทำแท้ง

[แก้]

เมลินดา เกตส์ได้กล่าวว่า มูลนิธิ "ได้ตัดสินใจที่จะไม่ให้ทุนในการทำแท้ง"[108] เมื่อถามถึงการตัดสินใจในเรื่องนี้ เมลินดาได้กล่าวในบล็อกเดือนมิถุนายน 2557 ว่า เธอ "ได้ขบคิดหาทางในประเด็นนี้" และว่า "การคุยกันเรื่องการทำแท้งที่มักจะเร้าอารมณ์และเต็มไปด้วยความรู้สึกส่วนตัว ได้เริ่มขัดขวางมติที่มีร่วมกัน (ของผู้ทำงาน) เกี่ยวกับการช่วยชีวิตโดยการวางแผนครอบครัว" [108] คือจนกระทั่งถึงปี 2557 มูลนิธิได้ให้เงินบริจาคแก่ Planned Parenthood ซึ่งเป็นองค์กรทำแท้งหลักของสหรัฐอเมริกา และแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกันอื่น ๆ[109]

ห้องสมุด

[แก้]

ในปี 2540 มูลนิธิได้เริ่มโครงการริเริ่มสำหรับห้องสมุดในสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายว่า "ถ้าคุณสามารถไปห้องสมุดได้ คุณก็จะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้" ตามสถิติแล้ว คนแค่ 35 เปอร์เซ็นต์ในโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้[110] มูลนิธิได้ให้เงินช่วยเหลือ ติดตั้งคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และให้การฝึกและการสนับสนุนทางเทคนิค โดยร่วมมือกับห้องสมุดสาธารณะทั่วประเทศ เพื่อที่จะเพิ่มการเข้าถึงและความรู้[110] ต่อมา มูลนิธิได้บริจาค 12.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 397 ล้านบาท) แก่ Southeastern Library Network เพื่อช่วยเหลือห้องสมุดในรัฐลุยเซียนาและมิสซิสซิปปี เป็นรัฐติดชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเกิดความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาและพายุเฮอร์ริเคนริต้า

การศึกษา

[แก้]

การดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาของมูลนิธิในสหรัฐที่สำคัญด้านหนึ่งก็คือ การยกเครื่องนโยบายการศึกษาของประเทศในสถาบันการศึกษาระดับประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย รวมทั้งการสนับสนุนการประเมินครู การสนับสนุนโรงเรียน charter (ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐแต่ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐ) และการต่อต้านการเลิกจ้างครูตามความอาวุโสและนโยบายอื่น ๆ ในระบบการศึกษาที่สหภาพครูมักจะสนับสนุน[111] มูลนิธิได้ให้เงินบริจาค 373 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12,805 ล้านบาท) เกี่ยวกับการศึกษาในปี 2552[111] และยังให้เงินบริจาคกับสหภาพครูที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งในประเทศ[111] มูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนเบื้องต้นที่ใหญ่ที่สุดในโครงการ Common Core State Standards Initiative คือการมีมาตรฐานเดียวกันในรัฐต่าง ๆ ว่า นักเรียนที่จบการศึกษาแต่ละชั้นเรียนควรจะรู้อะไร[111]

เป้าหมายของมูลนิธิอย่างหนึ่งก็คือการลดความยากจนโดยเพิ่มจำนวนผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐ และมูลนิธิได้ให้ทุนในโครงการ "จินตนาการใหม่ในการออกแบบและให้ความช่วยเหลือ (Reimagining Aid Design and Delivery)" แก่องค์กรผู้เชี่ยวชาญ (think tank) และองค์กรสนับสนุนนโยบาย เพื่อที่จะสร้างไอเดียเพื่อเปลี่ยนระบบการช่วยเหลือการศึกษาของรัฐบาลกลางแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราผู้จบการศึกษา[112][113] วิธีการหนึ่งที่มูลนิธิได้พยายามเพิ่มจำนวนผู้จบการศึกษาก็คือให้สามารถเรียนผ่านมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น แต่ว่า ไอเดียนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรมหาวิทยาลัยต่าง ๆ[114] โดยเป็นส่วนของการสนับสนุนการศึกษา มูลนิธิได้ให้ทุนกับนักข่าว องค์กรผู้เชี่ยวชาญ องค์กรวิ่งเต้นกับรัฐบาล และรัฐบาลต่าง ๆ โดยที่เงินเป็นล้าน ๆ ดอลลาร์ที่ให้แก่สำนักงานข่าว ได้สนับสนุนการออกข่าวการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งเงินทุน 1.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 44 ล้านบาท) ที่ให้แก่สมาคมนักเขียนเกี่ยวกับการศึกษา (Education Writers Association) เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการฝึกอบรมให้แก่นักข่าวการศึกษา[115]

แม้ว่าผู้ไม่เห็นด้วยจะวิตกกังวลการที่มูลนิธิได้ชี้แนวทางการพูดคุยเรื่องปัญหาการศึกษา หรือการแสดงความคิดเห็นของมูลนิธิผ่านสื่อมวลชน มูลนิธิได้กล่าวว่า องค์กรได้แสดงรายชื่อของผู้ที่ได้รับบริจาคทั้งหมด และไม่ได้มีการบังคับสิ่งที่รายงาน โดยผู้รับบริจาคมีอิสรภาพในการเขียนและในด้านบรรณาธิการ[111][115][116] ส่วนนักปฏิบัติการของสหภาพครูในนครชิคาโกได้กล่าวหาองค์กรที่ได้รับเงินบริจาคจากมูลนิธิ ที่เป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นโดยครูใหม่ ๆ และโดยผู้ขัดแย้งนโยบายการเลิกจ้างครูตามอาวุโส ว่าออกบทความปิดบังทุนที่ได้ทำให้เหมือนว่าเป็นบทความแสดงความเห็นในระดับรากหญ้า[111] และก็มีผู้มีอาชีพในด้านการศึกษา ผู้ปกครอง และนักวิจัยบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับโปรแกรมปรับปรุงสถาบันการศึกษาของมูลนิธิ เพราะมีการชี้ทางกระบวนการพูดคุยในประเด็นปัญหา ในระดับที่อาจจะลดความสำคัญของนักวิจัยที่ไม่สนับสนุนแนวคิดเดียวกับมูลนิธิ[112]

นโยบายต่าง ๆ ที่มูลนิธิได้สนับสนุนรวมทั้งโรงเรียนที่เล็ก, charter school, และ การเพิ่มจำนวนนักเรียนในชั้นเรียน เป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายสูงและทำให้เกิดความแตกแยก แต่งานศึกษาบางงานกลับแสดงว่า เป็นนโยบายที่ไม่ช่วยปรับปรุงผลการศึกษาและอาจมีผลลบ[117][118] ส่วนงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายงานที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่มีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันพบว่า charter school ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของนักเรียนเทียบกับโรงเรียนปกติ[119][120]

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่สนับสนุนโดยมูลนิธิ รวมทั้งการปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ สนับสนุน charter school ที่ดำเนินการโดยเอกชน แล้วใช้คะแนนที่ได้จากการทดสอบมาตรฐานเพื่อประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน ครู และโรงเรียน และจ่ายเงินเดือนให้ครูขึ้นอยู่กับคะแนนสอบที่นักเรียนของตนได้ ผู้ไม่เห็นด้วยยังเชื่ออีกด้วยว่า มูลนิธิมีอิทธิพลต่อนโยบายการศึกษาของรัฐมากเกินไปโดยที่ไม่ต้องตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชน[117][121][122] และกล่าวว่า มูลนิธิไม่มองความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนกับความสำเร็จทางการศึกษาที่ต่ำ และดูถูกครูเนื่องจากความสำเร็จต่ำของนักเรียนยากจนอย่างไม่ยุติธรรม และกล่าวว่า มูลนิธิควรจะดำเนินการในเรื่องปัญหาความยากจนและรายได้ขั้นต่ำพอที่จะประทังชีวิตได้ แทนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ยังไม่ได้ตรวจสอบและไม่มีหลักฐานทางประสบการณ์ที่สนับสนุน[123] ผู้ไม่เห็นด้วยกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนโดยมูลนิธิเช่นการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา อาจจะให้ผลประโยชน์ทางการเงินแก่บริษัทไมโครซอฟท์และแก่ครอบครัวของเกตส์[112][124][125][126][127]

งานริเริ่มทางการศึกษาของมูลนิธิรวมทั้ง

  • การสนับสนุนโรงเรียนที่เล็กลง - มูลนิธิอ้างว่า นักเรียน 1 ใน 5 ไม่สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อความ และนักเรียนแอฟริกันอเมริกันและเชื้อสายลาตินอเมริกาจบจากไฮสกูลโดยมีทักษะเทียบเท่ากับที่นักเรียนมัธยมต้นจะพึงมี[128] มูลนิธิได้ให้ทุนเกินกว่า 250 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10,972 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงเรียนขนาดเล็ก ลดอัตรานักเรียนต่อครู และแบ่งไฮสกูลใหญ่ ๆ ออกเป็นส่วน ๆ เป็นแบบโรงเรียนภายในโรงเรียน[128]
  • มหาวิทยาลัยคอร์เนล คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (Faculty of Computing and Information Science) ได้รับเงินบริจาค 25 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 880 ล้านบาท) จากมูลนิธิเพื่อสร้างอาคารใหม่ ซึ่งจะได้ชื่อว่า อาคารบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill and Melinda Gates Hall) โดยค่าก่อสร้างคาดว่าน่าจะถึง 60 ล้านดอลลาร์ การก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2555 และเปิดใช้อาคารเมื่อเดือนมกราคม 2557[129]
  • มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน - มูลนิธิบริจาค 20 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 755 ล้านบาท) ให้แก่คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างอาคารใหม่มีชื่อว่า ศูนย์วิทยาการคอมพิวเตอร์เกตส์ (Gates Center for Computer Science)[130] ซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552[131]
  • สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ส่วนของอาคารหนึ่ง (Ray and Maria Stata Center) รู้จักกันว่าตึกเกตส์ (Gates Tower) เพื่อให้เกียรติว่าได้รับทุนส่วนหนึ่งจากมูลนิธิ
  • ทุนการศึกษา D.C. Achievers Scholarships - มูลนิธิประกาศวันที่ 22 มีนาคม 2550 ว่าจะให้ทุนการศึกษา 122 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,932 ล้านบาท) เพื่อส่งนักเรียนที่ยากจนที่สุดในเขตวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นร้อย ๆ ไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย[132]
  • ทุนการศึกษา Gates Cambridge Scholarships มูลนิธิบริจาค 210 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,082 ล้านบาท) ในเดือนตุลาคม 2543 เพื่อช่วยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่มีความสามารถนอกสหราชอาณาจักรเพื่อให้เรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทุกปี มีนักศึกษาที่ได้รับทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 100 คน[133]
  • ทุนการศึกษา Gates Millennium Scholars มีมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 52,787 ล้านบาท) ให้สำหรับนักศึกษาชนกลุ่มน้อยที่เก่งทั้งในเรื่องการศึกษาและความเป็นผู้นำ และมีความจำเป็นในการได้รับความช่วยเหลือ[134]
  • NewSchools Venture Fund มูลนิธิบริจาคทุน 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,056 ล้านบาท) เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบริหาร charter school ได้มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมนักเรียนเข้าสู่สาขาวิชาในมหาวิทยาลัยและอาชีพที่มีบุคลากรน้อย
  • Strong American Schools - วันที่ 25 เมษายน 2550 มูลนิธิร่วมมือกับ Eli and Edythe Broad Foundation สัญญาเงินทุน 60 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,930 ล้านบาท) ร่วมกันเพื่อจะสร้างโปรเจ็กต์ Strong American Schools เพื่อรณรงค์ให้ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐปี 2551 รวมการศึกษาเข้าในประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งของตน[135]
  • Teaching Channel - มูลนิธิประกาศในเดือนกันยายน 2554 การบริจาค 3.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 107 ล้านบาท) เพื่อเริ่มบริการหลายระบบที่ส่งวิดีโอฝึกอาชีพให้ครูทางอินเทอร์เน็ต ทางโทรทัศน์สื่อมวลชน ทางโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และทางสื่อดิจิตัลอื่น ๆ[136] ปัจจุบันชุมชนมีสมาชิกประมาณ 840,000 คน เป็นครู ผู้บริหารโรงเรียน ครูฝึกกีฬา และเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนอื่น ๆ[137]
  • The Texas High School Project - เป็นโปรเจ็กต์มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเรียนจบไฮสกูลของนักเรียนในรัฐเท็กซัส โดยมูลนิธิได้กำหนดงบประมาณ 84.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,977 ล้านบาท) เริ่มตั้งแต่ปี 2546 โดยพุ่งความสนใจไปที่โรงเรียนและเขตที่มีความต้องการสูงทั่วทั้งรัฐ โดยเน้นเขตเมืองและเขตชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก[138]
  • University Scholars Program - มูลนิธิได้บริจาคเงิน 20 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 827 ล้านบาท) เพื่อตั้งทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเก่าของเมลินดา เกตส์ คือ มหาวิทยาลัยดุ๊ก[139] โปรแกรมนี้ให้ทุนการศึกษาเต็มสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี 10 คนต่อปี และนักศึกษาคนหนึ่งในคณะแพทย์ ธุรกิจ นิติศาสตร์ เทววิทยา (divinity) สิ่งแวดล้อม พยาบาล และนโยบายรัฐบาล และนักศึกษาบัณฑิตศึกษาที่กำลังเรียนมีจุดหมายในการจบปริญญาเอกในคณะไหนก็ได้ นักศึกษาผู้ได้ทุนชั้นบัณฑิตศึกษาจะทำงานเป็นพี่เลี้ยง (mentor) ให้กับนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งจะได้รับเลือกขึ้นอยู่กับความต้องการทางการเงิน และความสนใจทางวิชาการที่ข้ามสาขา ผู้ได้ทุนจะได้รับเลือกในฤดูใบไม้ผลิจากนักศึกษาใหม่ สำหรับโปรแกรมทั้งปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา และสาขาเกี่ยกับวิชาชีพ โปรแกรมนี้ยังจัดสัมมนาที่ประชุมผู้ได้รับทุนการศึกษาทั้งหมด เพื่อการพูดคุยทางวิชาการข้ามสาขา และจัดประชุมเอกสารัตถ์ในฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย
  • Washington State Achievers Scholarship - เป็นโปรแกรมที่สนับสนุนโรงเรียนในรัฐวอชิงตัน (ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ของเกตส์) ให้สร้างวัฒนธรรมเพื่อให้นักเรียนได้ความสำเร็จทางการศึกษาในระดับสูง ในขณะที่ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนบางคนที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
  • William H. Gates Public Service Law Program เป็นโปรแกรมที่ให้ทุนการศึกษาเต็ม 5 ทุนต่อคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ได้ทุนจะต้องทำงานในตำแหน่งบริการสาธารณะทางกฎหมายที่มีรายได้น้อยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีหลังจากจบการศึกษา[140]
  • มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ได้ทุน 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,057 ล้านบาท) เพื่อสร้างกลุ่มอาคารวิทยาการคอมพิวเตอร์บิลและเมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Computer Science Complex)[141]

เขต Pacific Northwest

[แก้]
  • Discovery Institute เป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญบ่อยครั้งสัมพันธ์กับพวกเคร่งศาสนาแบบอนุรักษนิยม - มูลนิธิได้บริจาคทุน 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 40.2 ล้านบาท) ในปี 2543 และสัญญา 9.35 ล้าน (ประมาณ 389 ล้านบาท) จ่ายกระจายเป็น 10 ปี ในปี 2546 รวมทั้งเงินเดือนของหัวหน้า แต่ตามมูลนิธิ เงินบริจาคจำกัดเฉพาะกับโปรเจ็กต์การขนส่งเพื่อลดปัญหาการจราจรในเขต และไม่อาจใช้เพื่อกิจกรรมอื่น ๆ ของสถาบันรวมทั้งการโปรโหมตวิทยาศาสตร์เทียมเรื่อง intelligent design[142]
  • ทุนการศึกษา Rainier Scholars - มูลนิธิบริจาคทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ - มูลนิธิบริจาค 15 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 614 ล้านบาท) ในเดือนตุลาคม 2548[143]

ช่วงทำการที่จำกัดของมูลนิธิ

[แก้]

ในเดือนตุลาคม 2549 มูลนิธิแยกออกเป็นนิติบุคคล 2 บุคคล คือ ทรัสต์มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation Trust) ซึ่งบริหารจัดการกองทุนของมูลนิธิ และตัวมูลนิธิเอง ซึ่ง "ดำเนินการและบริจาคทุนทั้งหมด"[144][145] ซึ่งเป็นเวลาที่มูลนิธิประกาศด้วยว่า จะแจกจ่ายกองทุนที่มีทั้งหมดภายใน 20 ปีหลังจากการถึงแก่กรรมของบิลและเมลินดา[145][146][147][148][149] ซึ่งก็จะเป็นการปิดนิติบุคคลทั้ง 2 โดยปริยาย โดยย้ำด้วยว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ "ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า รายได้จากหุ้นของ Berkshire Hathaway ที่เขายังเป็นเจ้าของต้องใช้ทำกุศลภายใน 10 ปีหลังจากที่ทรัพย์สมบัติของเขาได้แจกจ่าย (หลังจากเสียชีวิต) เรียบร้อยแล้ว"[145]

นี่เป็นแผนงานที่ต่างจากมูลนิธิขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่ไม่กำหนดที่สิ้นสุดขององค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารมูลนิธิเทียบกับทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค และเพื่อให้แน่ใจว่า องค์กรจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่าใช้จ่ายโดยมากจะเป็นเพื่อการบริหาร รวมทั้งเงินเดือนของเจ้าพนักงาน แล้วใช้เงินเพียงแค่นิดหน่อยเพื่อการกุศล[147]

รางวัลที่ได้

[แก้]
  • ในปี 2549 ได้รางวัล Prince of Asturias Award เพราะเหตุการร่วมมือระหว่างประเทศ[150]
  • ในปี 2550 ประธานาธิบดีอินเดียให้รางวัล Indira Gandhi Prize for Peace, Disarmament and Development ต่อมูลนิธิ[151]
  • เพื่อเป็นเกียรติสำหรับงานการกุศลที่ทำในอินเดีย มูลนิธิได้รับรางวัล Padma Bhushan เป็นอันดับสามสูงสุดที่ให้แก่พลเรือน ในปี 2558[152]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Who We Are - History". Bill & Melinda Gates Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-18.
  2. "Bill & Melinda Gates Foundation". Foundation Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-09. สืบค้นเมื่อ 2009-06-20.
  3. 3.0 3.1 3.2 Bill & Melinda Gates Foundation. "Fact Sheet". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-08. สืบค้นเมื่อ 2012-03-27.
  4. Bates, Suzanne (2012). Discover Your CEO Brand. United States: McGrawHill. p. iv. ISBN 9780071762908. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.[ลิงก์เสีย]
  5. ให้สังเกตว่า บทความใช้อัตราค่าเงินแลกเปลี่ยนที่วันที่ที่กำหนดถ้ามี ไม่เช่นนั้นแล้วใช้ค่าปัจจุบัน เป็นดังนี้ทั้งบทความ
  6. "The birth of philanthrocapitalism". The Economist. 2006-02-23.
  7. "About the Foundation - Guiding Principles". Gates Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-21. Guiding Principle #2: Philanthropy plays an important but limited role.
  8. "The 20 most generous people in the world". Business Insider. 2015-10-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-12.
  9. "Bill Gates Retakes World's Richest Title From Carlos Slim". Blooomberg. Blooomberg L.P. 2013-05-16.
  10. "Gates' historical legacy may focus more on philanthropy than on Microsoft". Computerworld. 2008-06-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-23.
  11. "Microsoft Announces Plans for July 2008 Transition for Bill Gates". Microsoft PressPass. 2006-06-15.
  12. "TIME names Bono, Bill and Melinda Gates Persons of Year". CNN. 2006-12-15.
  13. "Health Professionals for the 21st Century". China Medical Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-21. สืบค้นเมื่อ 2016-04-20. The Commission was sponsored by the Bill & Melinda Gates Foundation, the Rockefeller Foundation and the China Medical Board.
  14. Guo, Jeff; McQueen, Rob (2010-04-23). "Gates asks students to tackle world's problems : Disease and education among biggest challenges". The Tech. Vol. 130 no. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-16. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  15. Guo, Jeff (2010-04-23). "In interview, Gates describes philanthropic journey (video & transcript)". The Tech. Vol. 130 no. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-14. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19. After he spoke at Kresge Auditorium, Bill Gates sat down with The Tech to talk more about his college tour, his philanthropy, and the philosophy behind it.
  16. "Improving our Work with You: A Progress Report - Bill & Melinda Gates Foundation". Gatesfoundation.org. 2012-09-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-07.
  17. "Gates Foundation's Spotlight page on SoundCloud - Hear the world's sounds". Soundcloud.com. สืบค้นเมื่อ 2013-07-18.
  18. 18.0 18.1 "Hillary Clinton launches global data project on women and girls". Washington Post.
  19. 19.0 19.1 Foundation Center. "Wyss, Clinton Foundations Partner on Full Participation by Women and Girls". Philanthropy News Digest (PND).
  20. Loomis, Carol J. (2008-03-05). "Warren Buffett gives away his fortune". Fortune. Time Warner via CNNMoney.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-28. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
  21. "Buffett Makes $30.7 Bln Donation to Gates Foundation (Update8)". Bloomberg News. 2006-06-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-11.
  22. Chris Noon (2006-06-26). "Buffett Will Double Gates Foundation's Spending". Forbes. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-30. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  23. Loomis, Carol J. (2006-06-25). "How Buffett's giveaway will work". CNN. สืบค้นเมื่อ 2010-04-26.
  24. Buffett, Warren (2006-06-26). "(Letter from Warren Buffett to Bill & Melinda Gates )" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2016-04-18.
  25. "Warren Buffett Makes Huge Charity Stock Donation To Gates Foundation, Other Charities". The Huffington Post. 2013-07-08.
  26. "Private Family Foundations". SaveWealth. SaveWealth. 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  27. "Susan Desmond-Hellmann". Bill and Melinda Gates Foundation. Bill and Melinda Gates Foundation. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-02. สืบค้นเมื่อ 2014-06-02.
  28. "What We Do". Bill and Melinda Gates Foundation. Bill and Melinda Gates Foundation. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-14. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  29. 29.0 29.1 "How We Work - Grantmaking". Bill & Melinda Gates Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-08. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  30. "Knowledge is Power: Sharing Information Can Accelerate Global Health Impact". Impatient Optimists. Bill and Melinda Gates Foundation. 2014-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-12-30.
  31. "Gates Foundation announces world's strongest policy on open access research". News blog Nature.com. 2014-11-21. สืบค้นเมื่อ 2015-01-23.
  32. "Bill & Melinda Gates Foundation Open Access Policy". Bill & Melinda Gates Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-08. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
  33. "Who We Are - Financials". Bill and Melinda Gates Foundation. Bill and Melinda Gates Foundation. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-06. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  34. "BILL & MELINDA GATES FOUNDATION Consolidated Financial Statements" (PDF). BILL & MELINDA GATES FOUNDATION Consolidated Financial Statements. KPMG. 2012-12-31. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  35. "BILL & MELINDA GATES FOUNDATION TRUST FORM 13F INFORMATION TABLE". U.S. Securities and Exchange Commission.
  36. 36.0 36.1 "Residents blame Durban oil refineries for health problems". The Guardian. 2015-05-26.
  37. "Report: Gates Foundation Causing Harm With the Same Money It Uses To Do Good". Democracy Now!. 2007-01-09.
  38. "Dark cloud over good works of Gates Foundation". Los Angeles Times. 2007-01-07.
  39. "Gates Foundation to review investments". The Seattle Times. 2007-01-10.
  40. "Gates Foundation to keep its investment approach". Los Angeles Times. 2007-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-05.
  41. "How the Gates Foundation's Investments Are Undermining Its Own Good Works". The Nation.
  42. "Who We Are - Leadership CHRISTOPHER ELIAS PRESIDENT". Bill & Melinda Gates Foundation. Bill & Melinda Gates Foundation. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  43. "Gates Foundation Awards $5 Million to Fight Sex Trafficking". Philanthropy News Digest. Foundation Center. 2006-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  44. "Project Lantern: Game-Changing Results in the Fight Against Trafficking". IJM. IJM. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  45. Cave, Andrew. "Banking For The Poor: Will This Be Bill Gates' Greatest Philanthropic Achievement?". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ January 4, 2018.
  46. "Financial Access Initiative | NYU Wagner". wagner.nyu.edu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ January 4, 2018.
  47. "Gates Foundation Awards Pro Mujer $3.1 Million To Develop Innovative Microcredit Products" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ January 4, 2018.
  48. "Gates Foundation Awards $1.5 Million to Grameen Foundation" (Press release). Grameen Foundation. 2006-08-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-26.
  49. "Growing Better Rice for a Hungry World". GOOD Worldwide Inc. 2011-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-03-17.
  50. Raj Patel; Eric Holt-Gimenez; Annie Shattuck (2009-09-21). "Ending Africa's Hunger". The Nation. The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-27. สืบค้นเมื่อ 2014-03-17.
  51. "Community Alliance for Global Justice". AGRA Watch. Community Alliance for Global Justice. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-13. สืบค้นเมื่อ 2014-03-17.
  52. 52.0 52.1 52.2 "Water, Sanitation & Hygiene Strategy Overview". Bill & Melinda Gates Foundation. 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-03.
  53. "Data and estimates". JMP - WHO/UNICEF Joint Monitoring Programme (JMP) for Water Supply and Sanitation. WHO/UNICEF. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-19. สืบค้นเมื่อ 2015-03-12.
  54. 54.0 54.1 Progress on drinking water and sanitation, 2014 Update (PDF). WHO/UNICEF Joint Monitoring Programme for Water Supply and Sanitation (JMP). 2014. ISBN 978 92 4 150724 0. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-04-21. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  55. "Reinvent the Toilet Challenge, Delhi, India - Program and Technical Guides". Bill & Melinda Gates Foundation. 2014.
  56. "What we do - Reinvent the Toilet Challenge - Strategy Overview". Bill & Melinda Gates Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2015-05-08.
  57. 57.0 57.1 "Reinvent the Toilet Challenge (RTTC, Round 1 and 2), Grand Challenges Explorations (Round 6 and 7) - Request for proposals, grant conditions, Seattle exhibition fair program and exhibitor guide". Bill & Melinda Gates Foundation. 2012.
  58. 58.0 58.1 Kass, Jason (2013-11-18). "Bill Gates Can't Build a Toilet". New York Times Opinion Pages. New York Times. สืบค้นเมื่อ 2015-03-24.
  59. Doughton, Sandy (2014-12-21). "After 10 years, few payoffs from Gates' 'Grand Challenges'". The Seattle Times, Local News. The Seattle Times. สืบค้นเมื่อ 2015-03-24.
  60. 60.0 60.1 Radke, N; Spuhler, D (2013). "Brief overview of conditions for water, sanitation and hygiene grants by the Bill & Melinda Gates Foundation" (PDF). BMGF.
  61. von Muench, Elisabeth; Spuhler, Dorothee; Surridge, Trevor; Ekane, Nelson; Andersson, Kim; Fidan, Emine Goekce; Rosemarin, Arno (2013). "Sustainable Sanitation Alliance members take a closer look at the Bill & Melinda Gates Foundation's sanitation grants" (PDF). Sustainable Sanitation Practice Journal (17): 4–10.
  62. Humphreys, Gary (2014). Reinventing the toilet for 2.5 billion in need. Bull World Health Organ 2014. pp. 470–471. doi:10.2471/BLT.14.020714.
  63. Frederick, R; Gurski, T (2012). "Synapse Dewatering Investigation Report - Omni-Ingestor Phase 2, Milestone 1". Consultancy report by Synapse (USA) commissioned by Bill & Melinda Gates Foundation. Synapse USA.
  64. Kuchenrither, RD; Stone, L; Haug, RT (2012). "Consultancy report by WERF (Water Environment Research Foundation), commissioned by Bill & Melinda Gates Foundation, Seattle, USA". Synapse USA.
  65. "Projects, filtered by funding source Bill & Melinda Gates Foundation". Sustainable Sanitation Alliance Website. Synapse USA. 2015-03-24. สืบค้นเมื่อ 2015-03-24.
  66. "How we work, grant database (grant for UKZN)". Bill and Melinda Gates Foundation. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  67. "From poop to portable, This Ingenious Machine Turns Feces Into Drinking Water". gatesnotes, The Blog of Bill Gates. 2015-01-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-13.
  68. "World's First Solar Powered Toilet to be unveiled in India this month". IANS. news.biharprabha.com. สืบค้นเมื่อ 2014-03-14.
  69. "How we work, grant database (grant for Uni Colorado Boulder)". Bill and Melinda Gates Foundation. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  70. "Our Technology". A Better Toilet For A Cleaner World. RTI International. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-17. สืบค้นเมื่อ 2014-03-17.
  71. "How we work, grant database (grants for RTI)". Bill and Melinda Gates Foundation. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  72. "CARE". Bill & Melinda Gates Foundation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 11, 2017.
  73. "International Rescue Committee". Bill & Melinda Gates Foundation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 11, 2017.
  74. "Mercy Corps". Bill & Melinda Gates Foundation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 11, 2017.
  75. "Save the Children Federation". Bill & Melinda Gates Foundation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 11, 2017.
  76. "World Vision". Bill & Melinda Gates Foundation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 11, 2017.
  77. "Pakistan Earthquake Homeless Number May Surpass Tsunami". Mercy Corps. Mercy Corps. 2005-10-13. สืบค้นเมื่อ 2014-03-17.
  78. Dreaper, Jane (2014-09-10). "New money added to emergency response to Ebola outbreak". BBC News - Health. BBC, UK. สืบค้นเมื่อ 2015-03-24.
  79. "The Challenge of Global Health". Foreign Affairs. 2007-01-01.
  80. 80.0 80.1 80.2 "Gates Foundation's Influence Criticized". N.Y. Times. 2008-02-16.
  81. 81.0 81.1 81.2 81.3 81.4 Piller, Charles; Smith, Doug (2007-12-16). "Unintended victims of Gates Foundation generosity". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-22. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  82. 82.0 82.1 Andy Beckett (2010-07-12). "Andy Beckett, Inside the Bill and Melinda Gates Foundation". The Guardian.
  83. "The Gates Foundation" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2016-04-18.
  84. Andrew Bowman (2012-04-01). "The flip side to Bill Gates' charity billions". New Internationalist.
  85. "Gates Foundation's agriculture aid a hard sell" (PDF). 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-10-19.
  86. Guest (October 2014). "Critics say Gates Foundation's agriculture program won't help poor farmers". Humanosphere. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  87. "Donor Contributions to the Global Polio Eradication Initiative, 1985-2008" (PDF). Polio Eradication Inititiative. 2006-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-06-24.
  88. "Gates Foundation, Norway Contribute $1 Billion to Increase Child Immunization in Developing Countries" (Press release). GAVI Alliance. 2005-01-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  89. Thomson, Iain (2005-01-25). "Bill Gates gives $750m to help African children". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-02. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  90. "Foundation Fact Sheet - Bill & Melinda Gates Foundation". Gates Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-08. สืบค้นเมื่อ 2013-01-27.
  91. "Children's Vaccine Program Receives Grant From Bill & Melinda Gates Foundation to Combat Japanese Encephalitis" (Press release). Program for Appropriate Technology in Health. 2003-12-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-12-21. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  92. Sandi Doughton; Kristi Heim (2006-11-26). "Seattle moves to forefront in global fight to save lives". The Seattle Times. Local News. สืบค้นเมื่อ 2020-08-31.
  93. "Gates gives $287m to HIV research". BBC News. 2006-07-20. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  94. Bill and Melinda Gates Foundation Announcement (2004-02-12). "Gates Foundation Commits $82.9 Million to Develop New Tuberculosis Vaccines". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-10. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  95. Nightingale, Katherine (2007-09-19). "Gates foundation gives US$280 million to fight TB".
  96. "Negotiated prices for Xpert® MTB/RIF and FIND country list". FIND Diagnostics. FIND. October 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  97. "Public-Private Partnership Announces Immediate 40 Percent Cost Reduction for Rapid TB Test" (PDF). World Health Organization. United Nations. 2012-08-06. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  98. "Published evidence and commentary on the Xpert MTB/RIF assay" (PDF). Stop TB Partnership. World Health Organization. 2014-03-12. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  99. "$5 m for disease control in Ethiopia". Israel21C. 2009-12-30. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  100. "Institute for OneWorld Health receives multimillion dollar grant". EurekAlert!. AAAS and EurekAlert!. 2005-12-01. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  101. "New Cure for Deadly Visceral Leishmaniasis (Kala-Azar) Approved by Government of India, Institute for OneWorld Health and Gland Pharma Limited Achieve Critical Paromomycin Milestone". Business Wire India. Business Wire India. 2008-09-14. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  102. Kyle Funk (September–October 2010). "Q & A: Institute for OneWorld Health" (PDF). Access Granted Rita. Landes Bioscience. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  103. "TOPIC: Develop the Next Generation of Condom". Grand Challenges in Global Health. Grand Challenges in Global Health. March 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  104. Nick Lieber (2013-12-05). "Innovation: Next-Gen Condoms". Bloomberg Businessweek. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  105. "WHO roadmap inspires unprecedented support to defeat neglected tropical diseases". World Health Organization. WHO. 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  106. Sarah Boseley (2012-01-30). "Drug companies join forces to combat deadliest tropical diseases". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  107. Sarah Boseley (2014-04-04). "Bill Gates: world must step up fight against neglected tropical diseases". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  108. 108.0 108.1 Melinda Gates (2014-06-02). "Reflections on My Recent Travels". Bill & Melinda Gates Foundation. สืบค้นเมื่อ 2014-06-15.
  109. "Bill and Melinda Gates Foundation says it will no longer fund abortion". Breitbart. 2014-06-12. สืบค้นเมื่อ 2014-06-16.
  110. 110.0 110.1 "What We Do: Global Libraries Strategy Overview". Bill & Melinda Gates Foundation. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-23.
  111. 111.0 111.1 111.2 111.3 111.4 111.5 "Behind Grass-Roots School Advocacy, Bill Gates". The New York Times. 2011-05-21.
  112. 112.0 112.1 112.2 Parry, Marc; Field, Kelly; Supiano, Beckie (2014-07-13). "The Gates Effect". The Chronicle of Higher Education.
  113. Libby A. Nelson (2013-03-24). "Reimagining Financial Aid". Inside Higher Education. สืบค้นเมื่อ 2014-12-21.
  114. Mangan, Katherine (2013-07-14). "How Gates Shapes State Higher-Education Policy". The Chronicle of Higher Education.
  115. 115.0 115.1 Ruark, Jennifer (2013-07-14). "To Shape the National Conversation, Gates and Lumina Support Journalism". The Chronicle of Higher Education.
  116. "Storytelling Matters: A Look at the Gates Foundation's Media Grantmaking". Bill & Melinda Gates Foundation. 2012-02-21. สืบค้นเมื่อ 2014-12-21.
  117. 117.0 117.1 Barkan, Joanne (Winter 2011). "Got Dough? How Billionaires Rule Our Schools". Dissent Magazine.
  118. Strauss, Valerie (2014-10-08). "An educator challenges the Gates Foundation". The Washington Post.
  119. "Stanford CREDO Study". Stanford University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  120. Strauss, Valerie (2013-09-24). "The bottom line on charter school studies". The Washington Post.
  121. Ravitch, Diane (2010). The Death and Life of the Great American School System. Basic Books.
  122. Kovacs, Philip E (2011). The Gates Foundation and the Future of U.S. "Public" Schools. Routledge.
  123. Strauss, Valerie (2014-04-21). "How Bill Gates and fellow billionaires can actually help public education,". Washington Post.
  124. Layton, Lyndsey (2014-06-07). "How Bill Gates pulled off the swift Common Core revolution". Washington Post.
  125. Walsh, Mark (2014-06-08). "The Washington Post's 'Tense' Talk With Bill Gates on Common Core". The Washington Post.
  126. Mott, Nathaniel; Sirota, David (2014-06-05). "REVEALED: Gates Foundation financed PBS education programming which promoted Microsoft's interests". PandoDaily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-19. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  127. Piette, Betsey (2014-06-17). "For-profit tech corporations gain from Common Core testing". Workers World Party.
  128. 128.0 128.1 Ark, Tom Vander. "The Case for Smaller Schools". Educational Leadership. 59 (5): 55–59.
  129. "Cornell's new Gates Hall is not what it seems". Cornell Chronicle. January 2014.
  130. "University Unveils Plans for New Gates Center for Computer Science". CMU News Extra. 2006-04-21.
  131. "The Move". SCS Complex Information and Blog. 2009-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-19.
  132. "Bill Gates Gives $122M for D.C. Scholarships". Newsmax. 2007-03-23.
  133. "Gates Cambridge Scholarships". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-06.
  134. "The Gates Millennium Scholars Program". Gates Millennium Scholars Program.
  135. "Billionaires Start $60 Million Schools Effort". The New York Times. 2007-04-25.
  136. "Gates Foundation Announces Grant To Teaching Channel". 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-07.
  137. "Teaching Channel Community". Teaching Channel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ 2016-04-17.
  138. "Educate Texas". Educate Texas.
  139. "University Scholars Program". มหาวิทยาลัยดุ๊ก. สืบค้นเมื่อ 2015-03-12.
  140. "Gates Public Service Law - UW School of Law - Public Service". มหาวิทยาลัยวอชิงตัน. สืบค้นเมื่อ 2015-03-12.
  141. "New Computer Science Complex at The University of Texas at Austin Receives $30 Million Challenge Grant from Bill & Melinda Gates Foundation". Computer Science Department The University of Texas at Austin. 2009-04-17.[ลิงก์เสีย]
  142. "Institute Hails $9.3 Million Grant from Gates Foundation". Discovery Institute.
  143. "Gates cheers on computer museum". BBC News. 2005-10-17. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  144. "Gates Foundation Announces That It Doesn't Plan to Operate Forever". philanthropy.com. 2006-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  145. 145.0 145.1 145.2 "About the Bill & Melinda Gates Foundation Trust". Gates Foundation. 2006-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-22.
  146. "Interview with Bill Gates September 21, 2013 (Video 33:52)". YouTube.
  147. 147.0 147.1 "Gates Foundation Announces That It Doesn't Plan to Operate Forever". The Chronicle of Philanthropy. 2006-11-29.
  148. "Gates foundation to spend all assets within 50 years of trustees' deaths". The Raw Story. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  149. Sally Beatty (2006-12-01). "Gates Foundation Sets Its Lifespan". WSJ.
  150. "Bill and Melinda Gates Foundation". Prince of Asturias Foundation. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-10.
  151. "Gates Foundation to get Indira Gandhi peace prize". The Indian Express.
  152. PTI. "Advani, Bachchan, Dilip Kumar get Padma Vibhushan". The Hindu.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


47°37′25″N 122°20′44″W / 47.62361°N 122.34556°W / 47.62361; -122.34556